ก่อนที่มนุษย์จะขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศ ก่อนที่ยูริ กาการินจะโคจรรอบโลก ก่อนที่นีล อาร์มสรองจะเหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก ยังมีบรรดาสัตว์ต่าง ๆ เคยขึ้นไปเพื่อบุกเบิกอวกาศ เก็บข้อมูลต่าง ๆ และทดสอบความปลอดภัยสูงสุดก่อนทดสอบกับมนุษย์ เมื่อเราพูดถึงสัตว์ในอวกาศ อาจจะรู้จักแค่ “ไลก้า” สุนัขข้างถนนของโซเวียตเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วมีสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยว่า ก่อนที่มนุษย์จะขึ้นไป มีสัตว์ชนิดไหนเคยขึ้นไปก่อนแล้วบ้าง
แมลงวันผลไม้ นับเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ใช้ในการทดลองอยู่แล้ว โดยเริ่มจากพาขึ้นบอลลูนในปี พ.ศ. 2489 ลอยสูงเหนือพื้นดินถึง 171 กิโลเมตร เพื่อทดสอบผลกระทบของรังสีคอสมิก และได้ขึ้นไปอีกครั้ง กับจรวด V2 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อทดสอบระบบช่วยชีวิต ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปีต่อมา นอกจากนั้นแมลงวันผลไม้และผองเพื่อนแมลงชนิดอื่น ๆ ก็ยังได้ไปอวกาศอีกหลายรอบ
ลิง มีหลายครั้งที่ใช้ลิงเป็นนักเดินทางในอวกาศ เพื่อทดสอบอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ เนื่องจากลักษณะทางกายภาพ และโครงสร้างภายในที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ โดยการท่องอวกาศของลิงครั้งสำคัญมีดังนี้
พี่น้อง Albert 1-8 ลิงทีมแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ เดินทางไปกับจรวด V2 ของสหรัฐอเมริกา ใน 8 เที่ยวบิน ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2491-2495 เพื่อทดสอบทางสรีระวิทยา อิทธิพลของค่าแรงโน้มถ่วงสูงและต่ำต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยทั้ง 8 ตัว เสียชีวิตจากการทดลองทั้งหมด
ลิงตัวแรกที่มีชีวิตในอวกาศได้ เป็นลิงที่ชื่อว่า Yorick โดยไปกับ Aerobee missile ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2494 นับว่าเป็นลิงตัวแรกที่มีชีวิตรอดในอวกาศ
Ham ลิงชิมแพนซีตัวแรก ถูกส่งขึ้นไปวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2504 ในภารกิจ Mercury ของสหรัฐอเมริกา เพื่อตรวจสอบการทำงานด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งในบางเที่ยวบินของภารกิจ Mercury มีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วย
Enos ลิงชิมแพนซีในภารกิจ Mercury เป็นลิงตัวแรกที่ได้โคจรรอบโลก เป็นจำนวน 2 รอบ โดยใช้เวลาการบินมากกว่า 180 นาที ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504
หลังจากนั้น ลิง ก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการทดสอบระบบต่าง ๆ ของร่างกายในอวกาศอีกหลายครั้ง และบางครั้งก็ขึ้นไปพร้อมกันมากกว่า 1 ตัว เพื่อลดความเครียด
สุนัข สัตว์เลี้ยงน่ารักสี่ขา นักวิทยาศาสตร์ชาวโซเวียตเริ่มใช้สุนัขในการสำรวจอวกาศ โดยคว้าสุนัขจรจัดแถวกรุงมอสโกมาฝึก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ไลก้า แต่ไลก้าก็ยังไม่ใช่สุนัขตัวแรกที่ได้ขึ้นไปในอวกาศ แต่จะมีอะไรบ้างนั้นมาดูกัน
Tsygen & Dezik สุนัขข้างถนนจากโซเวียต เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรก ที่เดินทางไปอวกาศในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ที่ความสูง 100 กิโลเมตร และเดินทางกลับเข้ามาโดยทั้งคู่ยังมีชีวิตอยู่
ไลก้า สุนัขท่องอวกาศตัวแรก เดินทางไปกับดาวเทียมสปุตนิก 2 ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่ไปโดยไม่มีทางกลับ ไลก้าได้เสียชีวิตหลังจากเดินทางไม่กี่ชั่วโมงอันเนื่องมาจากความร้อนของดาวเทียม
ถึงTsygen & Dezik จะเดินทางขึ้นไปก่อนไลก้า แต่คนก็ยังจำไลก้า ได้มากกว่าเนื่องจากภารกิจของไลก้าเป็นภารกิจที่โคจรรอบโลกซึ่งเป็นภารกิจที่ใหญ่กว่า หลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็ส่งสุนัขขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยแต่ละครั้งจะส่งขึ้นไปเป็นคู่เพื่อลดความเครียดในการทดลองในอวกาศ
หนู นักทดลองในอวกาศ เรามักจะเห็นนักวิทยาศาสตร์ใช้หนูในการทดลองบนอวกาศหลายครั้ง เนื่องจากหนูมีอวัยวะภายในและโครโมโซมใกล้เคียงกับมนุษย์ และมีขนาดตัวที่เล็ก ทำการทดลองได้ง่ายกว่าลิง ดังนั้น หนูจึงถูกส่งไปหลายต่อหลายครั้งในอวกาศ ไม่ว่าจะไปกับจรวด V2 ของสหรัฐอเมริกา พร้อมพี่น้อง Albert หรือแม้แต่กระทั่งกลับมา แบบมีชีวิตกับ ลิง Yorick นอกจากนั้น ยังมีหนูหลายสายพันธุ์ที่ได้ขึ้นไปในอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ mice หรือ rat ในภารกิจ Korabl Sputnik 2 โดยสหภาพโซเวียต ในช่วงปีพ.ศ. 2503 และยังมีหนูตะเภา ในภารกิจ Korabl Sputnik 4 อีกด้วย
กระต่าย รุ่นพี่ของหนูทดลอง โซเวียตได้เคยนำกระต่ายสีเทา ขึ้นไปทดลองในอวกาศกับภารกิจ Korabl Sputnik 2 โดยสหภาพโซเวียต และรอดกลับมายังพื้นโลก
แมว น้องเหมียวแห่งปารีส แมวในนาม Felicette ถูกส่งขึ้นไปกับ Veronique AGI sounding 47 ในวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2506 เพื่อสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิขณะเดินทาง
เต่า ผู้แซงกระต่ายไปไกลถึงดวงจันทร์ ในภารกิจ Zond 5 ถูกส่งขึ้นไปโดยโซเวียตเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2511 ในภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์และเดินทางกลับมายังโลก โดยที่เต่ายังรอดชีวิตกลับมาได้
ปลา ผู้แหวกว่ายในสถานีอวกาศ โดยปลาที่ถูกเลือกคือ ปลามัมมิช็อก เป็นปลาที่อึดมาก อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความผันผวนของอุณหภูมิสูงได้ ทนการปนเปื้อนของรังสีได้ ปลาทั้ง 2 ตัวได้ขึ้นไปอยู่กับสถานีอวกาศ Skylab ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 โดยปลาสามารถแหวกว่ายในสภาพไร้น้ำหนักได้
แมงมุม Anita & Arabellar ถูกส่งไปพร้อมกับปลามัมมิช็อก เพื่อทดสอบว่าแมงมุมสามารถสร้างใยนอกโลกในสภาพความโน้มถ่วงต่ำได้หรือไม่ เพราะแมงมุมต้องการแรงโน้มถ่วงในการกำหนดทิศทางเส้นใย แต่สุดท้ายก็สามารถปรับตัวและสร้างใยได้ และสามารถอยู่บนสถานีอวกาศได้เกือบ 2 เดือนก่อนที่จะจบชีวิต
กบ ภารกิจ OFO-A (Orbiting Frog Otolith spacecraft) ของสหรัฐอเมริกา ได้นำกบขนาดใหญ่ 2 ตัวขึ้นไปบนอวกาศ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 เป็นเวลา 5 วัน เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของสภาพไร้น้ำหนักต่อโครงสร้างของหูกบ
นิวต์ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจำพวกซาลาแมนเดอร์ โดยนิวต์ ทั้ง 10 ตัวได้ขึ้นไปกับยาน Bion 7 ของสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เพื่อศึกษาการซ่อมแซมตัวเองของร่างกาย
แมงกะพรุน ในกระสวยอวกาศโคลัมเบียเที่ยว STS-40 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2534 แมงกะพรุนพระจันทร์กว่า 2,500 ตัว ได้ว่ายเบียดเสียดกันอยู่ในกระสวยอวกาศ การส่งขึ้นไปครั้งนี้เพื่อศึกษาเรื่องระบบประสาท เนื่องจากแมงกะพรุนมีชุดตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่ละเอียดในการรักษาสมดุลการว่ายในทิศทางต่างๆ
หมีน้ำ องค์การอวกาศยุโรป ได้ส่งสัตว์ที่อึดที่สุดในโลกโดยสารไปกับยาน Foton M3 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2550 โดยสามารถทนต่อรังสีได้นานถึง 10 วันในสภาพจำศีล และคืนชีพเมื่อกลับสู่สภาวะที่เหมาะสม
เป็นเวลากว่า 74 ปีที่วิทยาศาสตร์อวกาศได้ประโยชน์จากสัตว์ทดลอง ในการทดสอบต่าง ๆ ทั้งระบบภายในร่างกายและสภาพจิตใจ ถึงแม้จะมีการสูญเสียสัตว์เหล่านี้ไปบ้าง แต่ก็ได้สร้างองค์ความรู้ให้กับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมหาศาล รวมถึงการปูทางสู่เทคโนโลยีในอนาคตต่าง ๆ อีกด้วย หากไม่มีสัตว์เหล่านี้ อาจจะพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ก็เป็นได้
เรียบเรียง : นายอนันต์พล สุดทรัพย์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
ภาพ : นางสาวหัทยา คชรัตน์ เจ้าหน้าที่จัดการงานทั่วไปชำนาญการ
อ้างอิง
[1] https://history.nasa.gov/animals.html
[2] https://www.nasa.gov/audience/forstudents/9-12/features/F_Animals_in_Space_9-12.html
[3] https://history.nasa.gov/History%20of%20Space%20Life%20Sciences-Neurolab-JSC.pdf
[5] https://blogs.scientificamerican.com/guest-blog/the-first-fish-in-orbit/