ในปี 2560 สดร. ได้รับงบประมาณในโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออกเดซี่ จึงได้เดินหน้าขยายการศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งงานวิจัย เทคโนโลยีและวิศวกรรมด้านดาราศาสตร์วิทยุ จัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ ปฏิบัติหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

        กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์หลักที่สำคัญของประเทศ นอกจากกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ที่หอดูดาวแห่งชาติ เพื่อขยายขีดความสามารถเชิงสังเกตการณ์ด้านคลื่นวิทยุ ส่งเสริมการใช้ดาราศาสตร์เพื่อพัฒนาความรู้พื้นฐานซึ่งประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM)  รวมถึงวิจัยด้านยีออเดซี่และวิทยาศาสตร์บรรยากาศ กล้องโทรทรรศน์วิทยุ จะเป็นเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่สำคัญสำหรับสังเกตการณ์คลื่นวิทยุ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากเทหวัตถุนอกโลก สัญญาณต่าง ๆ บนชั้นบรรยากาศ หรือ ดาวเทียม เพื่อหาตำแหน่งบนพื้นผิวโลก

        กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ใช้ต้นแบบและพัฒนามาจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุเยเบส เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สามารถขับเคลื่อนในแนวราบและแนวตั้ง (steerable) เป็นที่นิยมอย่างมากในงานดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ ซึ่งใช้ช่วงความยาวคลื่นไมโครเวฟและมิลลิเมตร สามารถเชื่อมต่อสัญญาณกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุอื่น ๆ ทั่วโลก ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายการแทรกสอดระยะไกล (very long baseline interferometry) และปรับปรุงคุณภาพสัญญาณที่ได้รับให้ดียิ่งขึ้น เทคนิคดังกล่าวต้องอาศัยการก่อสร้างจานพาราโบลาที่มีขนาดใหญ่เพื่อรับสัญญาณ รวมถึงระบบขับเคลื่อนที่มีความแม่นยำสูง มีพื้นผิวที่เรียบมาก ตอบสนองต่อสัญญาณได้ดี และการใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงมาก

        การก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ จึงเกี่ยวเนื่องกับศาสตร์หลายแขนง อาทิ วิศวกรรมโยธา ทัศนศาสตร์ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล งานด้านคลื่นวิทยุและซอฟต์แวร์ เป็นต้น เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในการออกแบบ พัฒนาและตอบสนองการวิจัยทางดาราศาสตร์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ณ หอดูดาวเยเบส ประเทศสเปน ซึ่งเป็นหอดูดาวต้นแบบ ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

1. การออกแบบเพื่อตอบสนองการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์วิทยุ

        กล้องโทรรรศน์วิทยุที่ใช้รับสัญญาณจากแหล่งกำเนิดเทหวัตถุนอกโลก ซึ่งมีพลังงานน้อยมาก (น้อยกว่าสัญญาณโทรศัพท์ ประมาณล้านล้านเท่า) ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบและผลิตส่วนประกอบต่าง ๆ  ดังนี้

• จานรับสัญญาณสำหรับสังเกตการณ์ความยาวคลื่นวิทยุในหน่วยมิลลิเมตร ต้องมีความราบเรียบของผิวการสะท้อนสูง ประมาณหนึ่งล้านเท่าของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการรับสัญญาณไม่น้อยกว่า 50% ของสัญญาณที่ส่งมา

• ระบบทางกลสำหรับขับเคลื่อนกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีน้ำหนักกว่า 500 ตัน ต้องแม่นยำในระดับ 0.0003 องศา

• ต้องการบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ทางด้านแม่เหล็กไฟฟ้า (ทัศนศาสตร์และความถี่วิทยุ) ความเย็นยวดยิ่ง (cryogenics) ในระดับลบ 260 องศาเซลเซียส เพื่อออกแบบตัวรับสัญญาณที่มีประสิทธิภาพสูง

• การเขียนโปรแกรมคำสั่งที่มีความซับซ้อน เพื่อสื่อสารกับระบบควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ระบบการประมวลผลในความถี่ต่ำ (Backend) ฯลฯ

• ระบบเวลาและความถี่อ้างอิงที่มีความแม่นยำสูงเพื่อให้ทุกระบบทำงานได้อย่างพร้อมเพรียง มีค่าประมาณ 3 X 10-15 ใน 1 ส่วนโดยประมาณ

• การควบคุมอุณหภูมิของตัวอาคาร ฐานรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ห้องรับสัญญาณ ห้องควบคุมระบบเวลา ห้องประมวลผล โครงสร้างเหล็กรองรับจานรับสัญญาณ เพื่อป้องกันการบิดตัวของจานรับสัญญาณและการประมวลผลข้อมูลผิดพลาด ซึ่งต้องควบคุมการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง 0.2-2 องศาเซลเซียส 

• เทคโนโลยีการออกแบบขั้นสูง (FEM) โดยการวิเคราะห์ความสามารถในการรับแรง การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ เพื่อนำมาประเมินผลกระทบต่อตัวอาคารและกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เช่น การบิดตัวของอาคารยอมรับได้ที่ 0.001 องศา

• การออกแบบระบบไฟฟ้าเพื่อป้องกันการรบกวนสัญญาณในความถี่ต่าง ๆ 

ภาพแสดงตัวอย่างผลการใช้เทคโนโลยีโฮโลกราฟฟี (Holography) วัดความราบเรียบของจานรับสัญญาณ ซึ่งมีความละเอียดในหน่วยไมโครเมตร ใช้หลักการทดลองสแกนรับสัญญาณจากดาวเทียมที่ตำแหน่ง 45 องศา จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับเครื่องรับสัญญาณอ้างอิง จะได้ค่าข้อมูลเปรียบเทียบความราบเรียบของผิวจานรับสัญญาณ 

        นอกจากนี้ การออกแบบตัวอาคารและตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุนั้นจะต้องวิเคราะห์แบบและจำลองภาระสมมติต่างๆ โดยใช้เทคนิค Finite Element Analysis (FEM) เพื่อวิเคราะห์หาจุดที่รับภาระสูงสุดหรือความสามารถในการทนทานภาระในสภาวะต่างๆ เช่น น้ำหนัก แรงลมหรือแรงโน้มถ่วง เป็นต้น

ภาพแสดงผลการวิเคราะห์แบบโดยการจำลองภาระต่างๆ

2. การออกแบบทางทัศนศาสตร์ (Optic design)

        กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ มีจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ออกแบบให้รับสัญญาณทั้งแบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ  แผ่นสะท้อนรูปร่างไฮเปอร์โบลอยด์จะรวมสัญญาณจากจานรับสัญญาณหลักไปยังห้องอุปกรณ์รับสัญญาณ ซึ่งการวิเคราะห์ทางทัศนศาสตร์ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการออกแบบโดยใช้โปรแกรมแกรสพ์ (Grasp) ช่วยในการจำลองตำแหน่ง  ส่วนห้องรับสัญญาณ เป็นระบบการสะท้อนสัญญาณแบบนาสมิทธ์ (Nasmyth) ใช้หลักการสะท้อนสัญญาณผ่านกระจกด้านซ้ายหรือขวา เพื่อให้สะดวกในการวางตำแหน่งเครื่องรับสัญญาณ


   การออกแบบระบบทัศนศาสตร์โดยโปรแกรม Grasp              ระบบสะท้อนสัญญาณแบบนาสมิทธ์ 


           เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งอ้างอิงต่างๆ                              หอดูดาวเยเบส ประเทศสเปน

3. การก่อสร้างและการประกอบ

        ฐานรากและโครงสร้างอาคารต้องรองรับการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร หนักประมาณ 500 ตัน ที่ความเร่งสูงสุดในแนวนอน 1 องศา/วินาที2  จึงต้องอาศัยทั้งเทคโนโลยีในการเคลื่อนย้ายวัตถุขนาดใหญ่ โดยใช้รถเครนที่สามารถยกน้ำหนักได้ 800 ตันและเคลื่อนที่ได้ในขณะยก1  ดังนั้นการวางแผนการประกอบโครงสร้างต้องจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ก่อนดำเนินการติดตั้งจริง ซึ่งทางวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นงานพิเศษต้องอาศัยการคำนวณอย่างถูกต้องและแม่นยำสูง

ภาพการก่อสร้างและประกอบกล้องโทรทรรศน์เยเบส ณ หอดูดาวเยเบส ประเทศสเปน เมื่อปี พ.ศ. 2549

4. เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากการพัฒนาและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

1. ได้หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุสำหรับการวิจัยขั้นสูงแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. สามารถนำมาพัฒนาเพื่อออกแบบและผลิตกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 เมตรได้เองหรือใหญ่กว่าในอนาคต โดยเฉพาะในย่านความถี่สูง 10-115 กิกะเฮิรตซ์ (GHz.) ซึ่งจะเป็นย่านความถี่สำหรับโทรคมนาคมในอนาคต

3. มีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและสร้างระบบรับสัญญาณแบบเย็นยวดยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญระบบวัดสัญญาณรบกวน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเสาอากาศและจานรับสัญญาณความถี่สูง เป็นต้น

4. เกิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถออกแบบ สร้าง วิจัยและถ่ายทอดความรู้ทางด้านอุปกรณ์ดาราศาสตร์วิทยุที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5. การพัฒนาเครื่องรับสัญญาณในช่วงคลื่นวิทยุสำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ

5.1 การพัฒนาเครื่องรับสัญญาณวิทยุไมโครเวฟโฮโลกราฟฟี่ย่านเคยู

        กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ที่ใช้ติดตามค้นหาสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุจากนอกโลก จำเป็นต้องตรวจสอบประสิทธิภาพหลังการติดตั้ง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญอันดับแรกคือความสามารถในการรวมสัญญาณความถี่วิทยุของจานสะท้อนสัญญาณพาราโบลาตัวแรก โดยทั่วไปความสามารถในการรวมสัญญาณความถี่วิทยุจะสัมพันธ์โดยตรงกับความเที่ยงตรงของพื้นผิวพาราโบลาของตัวจานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานจริง แนวโน้มประสิทธิภาพของการรวมสัญญาณที่ได้จะแปรผกผันกับความถี่ของคลื่นวิทยุ ดังนั้นความเที่ยงตรงของพื้นผิวรูปทรงพาราโบลาของจานสะท้อนสัญญาณจึงเป็นปัจจัยหลักที่บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการใช้งานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุโดยรวม

        ด้วยเหตุนี้ หลังการติดตั้งจึงจำเป็นต้องตรวจสอบโดยใช้เทคนิคไมโครเวฟโฮโลกราฟฟี่ ติดตั้งเครื่องรับสัญญาณนำร่องจากดาวเทียมสองตัวดังรูปที่ 1. เป็นตัวอ้างอิงและทดสอบ ซึ่งข้อมูลสัญญาณความถี่วิทยุที่รับได้จากดาวเทียมดวงเดียวกันสามารถนำมาคำนวณเปรียบเทียบแอมพลิจูดและเฟสของสัญญาณที่ต่างกัน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อแสดงออกมาเป็นภาพสองมิติที่มีเฉดสี ซึ่งเฉดสีจะแสดงผลความเที่ยงตรงของพื้นผิวรูปทรงพาราโบลาของจานสะท้อนสัญญาณตัวแรกดังรูปที่ 2.  โครงการนี้จะเลือกรับสัญญาณความถี่นำร่องจากดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ในย่านความถี่ Ku ที่มีความถี่คลื่นวิทยุอยู่ในช่วง 10.7-12.75GHz

รูปที่ 1. ไดอะแกรมการติดตั้งฟีดและเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุบนจานรับสัญญาณ

รูปที่ 2. ตัวอย่างที่ได้จากการวัดความเที่ยงตรงของพื้นผิวพาราโบลา

รูปที่ 3. ไดอะแกรมของระบบโดยรวม

กรอบแนวคิดในการพัฒนาจะเป็นไปตามไดอะแกรมในรูปที่ 3. โดยแบ่งออกเป็น

        1) การออกแบบสายอากาศฟีดฮอร์นของเครื่องรับสัญญาณอ้างอิงและการออกแบบสายอากาศฟีดฮอร์นของเครื่องรับสัญญาณทดสอบ 

        โดยทางทฤษฎีนั้นสายอากาศฟีดฮอร์นทั้งสองแบบจะรับสัญญาณความถี่วิทยุย่านเคยูซึ่งเป็นสัญญาณนำร่องมาจากดาวเทียม จากนั้นส่งผ่านสัญญาณไปยังเครื่องรับสัญญาณชุดแรกคือ RF module สำหรับสายอากาศฟีดฮอร์นที่ไช้รับสัญญาณอ้างอิงนั้น ต้องออกออกแบบให้มีอัตราขยายสัญญาณของสายอากาศอยู่ที่ประมาณ 25dBi ถึง 36dBi โดยมี side lobe ที่ต่ำ ซึ่ง HPBW หรือ องศาความกว้างการแผ่กำลังงานครึ่งนึงต้องสัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างตำแหน่งจุดที่ใช้เก็บข้อมูลสองจุดที่อยู่ไกล้กัน (N และ N+1) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กล้องวิทยุจะชี้ไปเพื่อทำการเก็บข้อมูลดังรูปที่ 4. โดย HPBW ของสายอากาศฟีดฮอร์นที่ใช้รับสัญญาณอ้างอิงจะอยู่ที่ประมาณ 4 องศา 

รูปที่ 4. แสดงตำแหน่งการเคลื่อนที่ของกล้องที่จะชี้ไปเพื่อทำการเก็บข้อมูลสำหรับการทำโฮโลกราฟฟี

        ในส่วนของสายอากาศฟีดฮอร์นที่ใช้รับสัญญาณในการทดสอบจะถูกออกแบบให้มี HPBW ที่กว้างกว่าเนื่องจากต้องทำหน้าที่รวมสัญญาณทั้งหมดที่สะท้อนมาจากจานสะท้อนสัญญาณตัวแรก ณ ตำแหน่งโฟกัสแรก สัญญาณคลื่นวิทยุที่ส่งมาจากดาวเทียมเป็นโพราไรซ์เซชั่นแบบวงกลม ดังนั้นสายอากาศฟีดฮอร์นที่ใช้รับสัญญาณจะต้องมีโพราไรซ์เซชั่นของสายอากาศที่ตรงกันกับโพราไรซ์เซชั่นที่ส่งมาจากดาวเทียม ซึ่งสัญญาณที่รับได้มานั้นจะถูกแปลงกลับให้มีโพราไรซ์เซชั่นเป็นแบบเชิงเส้นไปสู่วงจรภาคขยายสัญญาณรบกวนต่ำภาคแรกเนื่องจากทรานซิชั่นทางด้านอินพุทของวงจรภาคขยายเป็นแบบท่อนำคลื่นแปลงไปแบบไมโครสตริปหรือสตริปไลน์ 

        2) ภาค RF ภาค IF ภาคปรับเทียบโฮโลกราฟฟี่ ภาคตรวจสอบ ภาคจ่ายไฟ ภาคควบคุม ภาคประมวลและแสดงผล

        สัญญาณคลื่นความถี่วิทยุที่ได้รับมาจากสายอากาศฟีดฮอร์นจะถูกส่งผ่านไปยังโพราไรเซอร์เพื่อทำการแปลงโพราไรซ์เซชั่นของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโพราไรซ์เซชั่นแบบวงกลมไปเป็นโพราไรซ์เซชั่นแบบเชิงเส้นจากนั้นจะส่งผ่านอุปกรณ์คัปเปอร์แบบมีทิศทางไปยังวงจรขยายสัญญาณวิทยุสัญญาณรบกวนต่ำภาคแรกเพื่อทำการขยายสัญญาณให้ใหญ่ขึ้นจากนั้นจะถูกส่งผ่านไปยังวงจรกรองความถี่เพื่อกำจัดความถี่ที่ไม่ต้องออกและส่งไปยังวงจรแปรผันความถี่ลงไปที่ความถี่ IF โดย วงจรแปรผันความถี่ลงจะทำการผสมสัญญาณความถี่วิทยุย่านเคยูที่ได้รับมาจากดาวเทียมเข้ากับสัญญาณความถี่วิทยุพื้นฐาน (Local : LO) ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากวงจรสังเคราะห์ความถี่ ผลการแปลงความถี่ IF แรกที่ได้จะนำไปผ่านวงจจรกรองความถี่ IF ถัดไปเพื่อกำจัดความถี่แปลกปลอมที่ไม่ต้องการออก จากนั้นสัญญาณที่ถูกกรองความถี่แปลกปลอมออกไปแล้วจะถูกส่งผ่านไปยังวงจรแปรผันความถี่ IF ภาคที่สองและภาค IF ที่สาม ซึ่งมีหลักการทำงานคล้ายคลึงกันโดยจุดประสงค์เพื่อทำการแปลผันความถี่ย่านเคยูที่รับมาลงไปที่ความถี่ต่ำที่อยู่ในช่วงความสามารถของวงจรแปลงอานาลอกไปเป็นดิจิตอล ADC สามารถทำการสุ่มสัญญาณได้ ซึ่งความถี่สัญญาณ IF ที่ได้จากภาค IF สุดท้ายจะอยู่ในช่วงระดับกิโลเฮิรตซ์ (kHz) ถึงระดับ เมกกะเฮิรตซ์ MHz หลังจากกระบวนการสุ่มสัญญาณจะได้ข้อมูลดิจิตอลที่สามารถนำไปผ่านกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลความต่างของแอมพลิจูดและเฟสของสัญญาณทดสอบและสัญญาณอ้างอิงโดยคอมพิวเตอร์เพื่อทำการประมวลผลวิเคราะห์โดยกระบวนการแปลงฟูเรียร์แบบเร็ว (FFT) แล้วทำการแสดงผลให้อยู่ในรูปภาพสองมิติโดยมีเฉดสีบ่งบอกถึงปริมาณความเที่ยงตรงหรือความผิดพลาดของพื้นผิวจานสะท้อนสัญญาณพาราโบลาตัวแรก

5.2) การพัฒนาเครื่องรับสัญญาณวิทยุย่านแอล

รูปที่ 5. กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร

รูปที่ 6. ไดอะแกรมเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุย่านแอลที่จะทำการพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยแมกซ์แพลงค์

        คุณสมบัติของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติสามารถใช้งานได้ตั้งแต่ความถี่ต่ำขึ้นไปถึง 100    กิกะเฮิรตซ์ ภายในประกอบด้วยเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุหลายย่าน ในปี พ.ศ. 2561 สดร. จะพัฒนาเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุย่านแอลเป็นย่านแรกร่วมกับสถาบันวิจัยแมกซ์แพลงค์ ณ เมืองบอนด์ ประเทศเยอรมนี โดยแสดงไดอะแกรมเครื่องรับวิทยุอย่างง่ายดังรูปที่ 6-7 เครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุย่านแอลดัง  กล่าวจะถูกติดตั้งที่จุดโฟกัสแรกบนจานรับสัญญาณ ซึ่งระบบที่ร่วมกันพัฒนาจะประกอบด้วย สายอากาศฟีดฮอร์น ภาครับภาคแรก โพราไรเซอร์แบบท่อนำคลื่น วงจรขยายสัญญาณรบกวนต่ำแช่แข็ง แหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน เครื่องทำความเย็น กล่องแช่แข็งแบบสุญญากาศ ระบบควบคุม แหล่งจ่ายไฟ ภาคประมวลผลความถี่วิทยุ ตัวสุ่มและประมวลสัญญาณดิจิตอล ตัวจัดการกลุ่มข้อมูลดิจิตอล ระบบส่งสัญญาณผ่านไฟเบอร์ออปติก ซึ่งหลักการทำงานทางไฟฟ้าจะคล้ายคลึงกับเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุไมโครเวฟ   โฮโลกราฟฟี่ย่านเคยู โดยมีฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างออกไปและมีระบบประมวลผลดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าซึ่งเหมาะสำหรับสำหรับงานดาราศาสตร์วิทยุ

รูปที่ 7. ไดอะแกรมเครื่องรับสัญญาณความถี่วิทยุย่านแอลที่จะทำการพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยแมกซ์แพลงค์