การจัดกิจกรรมดูดาวที่ดี ควรมีการเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาข้อมูลวัตถุท้องฟ้าในวันเวลาที่เราจะดู เราจึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่สามารถจำลองท้องฟ้าเพื่อใช้เตรียมตัวดูดาว เช่น แผนที่ดาว หรือโปรแกรมท้องฟ้าจำลองในคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในโทรศัพท์มือถือ ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้มีแอปพลิเคชันทางด้านดาราศาสตร์มากมายลงในแพลตฟอร์มมือถือ ซึ่งมีทั้งแบบที่ดีและไม่ดี แอปพลิเคชันฟรีและเสียเงิน
บทความนี้จะมาแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชัน Star Chart ในเบื้องต้น ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันฟรี ที่สามารถจำลองท้องฟ้ามาไว้ในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งาน เพื่อใช้ศึกษาท้องฟ้าหรือเตรียมดูดาวในช่วงวันและเวลาที่ต้องการ จุดเด่นของ App นี้คือสามารถรองรับโหมด AR (Augmented Reality) ซึ่งสามารถยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเทียบกับท้องฟ้าเพื่อดูว่าบริเวณนั้นมีกลุ่มดาวหรือวัตถุท้องฟ้าอะไร โดยเราสามารถให้เด็กๆ ดูดาวได้โดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน เพียงแค่ยกมือถือขึ้นมาเท่านั้น เหมาะสำหรับช่วงนี้ที่ไม่สามารถพาเด็ก ๆ ออกมาดูดาวนอกบ้านได้
เราสามารถโหลดแอปพลิเคชันนี้ได้จาก Play Store และ App Store ได้เลย เพียงพิมพ์ชื่อ Star Chart ลงไปในช่องค้นหา หลังจากโหลดมาแล้วจะยังไม่สามารถใช้งาน App ได้ทันที่ต้องมีการตั้งค่า ตำแหน่งของผู้ใช้งานก่อน
การตั้งค่าก่อนใช้งาน
- ต้องตั้งค่าตำแหน่งของผู้ใช้งานก่อนโดยให้เลือกไปที่สัญลักษณ์ ที่อยู่มุมล่างขวาของโปรแกรม
- แล้วเลือกเมนู เพื่อตั้งค่าตำแหน่งของผู้ใช้งาน
- หลังจากนั้นให้เลือกที่รูป ที่อยู่ด้านล่างของหน้าจอ
- จะมีหน้าต่างขึ้นมาดังรูปให้เลือกที่ Update from GPS ตัวโปรแกรมจะอัพเดทตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ทั้งละติจูด (Latitude) และลองจิจูด (Longitude) ของผู้ใช้งานจากค่า GPS
- จากนั้นกด OK ที่มุมขวาบน เสร็จสิ้นการตั้งค่าตำแหน่งผู้ใช้งาน
หากต้องการตั้งค่าตำแหน่งผู้สังเกตโดยที่โทรศัพท์มือถือไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือ GPS
ให้เลือกที่จุดสีขาว Bangkok หลังจากเลือกจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว แล้วกด OK ที่มุมขวาบนได้เลย โดยตัวโปรแกรมจะตั้งค่าตำแหน่งของเรา ณ กรุงเทพฯ (สำหรับผู้สังเกตจากตำแหน่งอื่น ๆ ในประเทศไทยสามารถใช้งานได้แต่ค่าตำแหน่งของผู้ใช้งาน อาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปเล็กน้อย)
การเปลี่ยนวันที่และเวลา
App Star Chart สามารถเปลี่ยนวันและเวลาได้ตามที่เราต้องการ เพื่อให้สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยวางแผนในการดูดาว
การเปลี่ยนวันและเวลาให้ตรงกับวันที่เราต้องการดูดาว ให้กดที่เวลาบริเวณมุมขวาบนของจอ จะมีแถบสีแดงขึ้นมาเป็นเครื่องหมายบอกว่าเราจะเลือกเปลี่ยนอะไรก่อน โดยจะเป็น วันที่ / เดือน / ปี / ชั่วโมง / นาที ตามลำดับ
โดยวิธีเลื่อนวันที่ให้กดวันที่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง แล้วเลื่อนแถบขวามือเปลี่ยนไปยังวันและเวลาที่ต้องการ
ปุ่มคำสั่งต่าง ๆ
กดเลือกที่ปุ่มคำสั่งรูปเฟือง จะมีหน้าต่างด้านข้างขึ้นมาตามนี้
- การเปิดโหมด AR (Augmented Reality) หากเปิดใช้งานโหมดนี้จะสามารถยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเทียบกับท้องฟ้าเพื่อดูว่าบริเวณที่ขยับโทรศัพมือถือไปมีกลุ่มดาวหรือวัตถุท้องฟ้าใดอยู่บริเวณนั้นหากต้องการเปิด AR ให้เลือกที่ I หรือ Auto ปิดเลือกที่ O
- สำหรับเปิด-ปิดโหมดใช้งานกลางคืน (Night Mode) เปิดแล้วตัวอักษรและหน้าจอจะเปลี่ยนเป็นสีแดงที่รบกวนสายตาน้อยที่สุด
- เข้าสู่หน้าการตั้งค่าการแสดงผลของ App
- ใช้กำหนดหน่วยของระยะทาง
- ใช้กำหนดตำแหน่งของผู้ใช้งาน
การเปิดโหมด AR
หากต้องการเปิด AR ให้เลือกที่ I หรือ Auto ปิดเลือกที่ O
ควรกดตั้งค่าตำแหน่งผู้ใช้งานใหม่ทุกครั้งหลังเปิด AR โหมด เพื่อที่ตัว App จะได้โชว์แผนที่ท้องฟ้าได้ถูกต้องตามท้องฟ้าจริงไม่หมุนทิศผิดทาง เพื่อเพิ่มอรรถรสและความถูกต้องในการใช้งาน (หากโปรแกรมค้างหรือไม่ขยับตามการเครื่อนไหวของมือ เราแนะนำให้ปิดโปรแกรมแล้วเปิดใหม่)
ปุ่มคำสั่งในหน้า Display Settings
สามารถเลือกปรับการแสดงผลของโปรแกรมได้ ผ่านปุ่มคำสั่งนี้
Elements
- Equatorial Grid สำหรับหรับเปิด-ปิด เส้นพิกัดท้องฟ้าระบบศูนย์สูตรฟ้า
- Atmosphere สำหรับเปิด-ปิดผลจากชั้นบรรยากาศของโลกบนท้องฟ้า
- Orbit Line สำหรับเปิด-ปิด เส้นวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
- Ecliptic Plane สำหรับเปิด-ปิดเส้นสุริยะวิถี (เส้นเชื่อมตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน)
- Lens Effects เปิด-ปิด Effects ของเลนส์ เช่นแสงสะท้อนจากเลนส์
Constellations
- Lines เปิด-ปิดการแสดงเส้นเชื่อมดาวสมาชิกในกลุ่มดาว
- Images เปิด-ปิดภาพจินตนาการของกลุ่มดาว
- Latin name เปิด-ปิดชื่อกลุ่มดาวภาษาละติน
Labels
- Stars เปิด-ปิดชื่อดาวฤกษ์
- Planets เปิด-ปิดชื่อดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวพลูโต
- Constellations เปิด-ปิดชื่อกลุ่มดาว
- Messier objects เปิด-ปิดชื่อวัตถุท้องฟ้าในบัญชีรายชื่อเมซีเย (Messier objects)
ปุ่มคำสั่ง รูปแว่นขยาย
ใช้สำหรับหาวัตถุท้องฟ้าที่เราสนใจ โดยการพิมพ์ชื่อวัตถุที่เราสนใจลงไป เพื่อให้โปรแกรมพาไปยังวัตถุท้องฟ้านั้น
พร้อมข้อมูลเวลาขึ้นและตกของดาวเคราะห์และดวงอาทิตย์ในแต่ละวัน และหากเลือกที่วัตถุที่เราสนใจโปรแกรมจะเลื่อนไปยังวัตถุนั้นพร้อมทั้งให้ข้อมูลต่าง ๆ ของวัตถุท้องฟ้านั้น
เรียบเรียง : นายรณภพ ตันวุฒิบันฑิต - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.