ความแตกต่างและความน่าสนใจระหว่างดาวตก (Meteor) ลูกไฟ (Fireball)   และ ดาวตกชนิดระเบิด (Bolide) ที่ควรรู้

สมัยเรียนมัธยม หลังจากได้รับข่าวสารประชาสัมพันธ์เรื่อง “ฝนดาวตก (Meteor Shower) ผมและเพื่อน ๆ ตื่นเต้นมาก จึงค้นหาสถานที่ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงแสงไฟรบกวนจากบ้านเรือนและชุมชนเมือง ผลจากการเฝ้าสังเกตการณ์ฝนดาวตกในคืนนั้น ยังเป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืมในวันนี้ และเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงเป็นแบบนี้เช่นกัน ประสบการณ์การพบเห็นดาวตกนั้นตื่นเต้น ประทับใจ เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนชอบดาราศาสตร์และหันมาศึกษาข้อมูลดาราศาสตร์มากขึ้น

as20200714 2 01

ภาพถ่ายฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ จากเซนติ เนลร็อก อุทยานแห่งชาติโยเซมิตี รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555 บันทึกภาพโดย Mike Hankey

 

   ภายหลังทราบว่าดาวตก (Meteor) ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเท่านั้น แต่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกคืน หากเราสังเกตการณ์ท้องฟ้าในเวลากลางคืนเราจะพบเห็นดาวตกหลายดวงและจะเห็นได้มากขึ้นหากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตก ซึ่งวัตถุต้นกำเนิดของดาวตก คือ วัตถุท้องฟ้าขนาดเล็กพวกดาวเคราะห์น้อย (Asteroid)  และดาวหาง (Comet) รวมถึงเศษชิ้นส่วนที่กระเด็นจากการพุ่งชนบนดวงจันทร์หรือดาวอังคารเป็นต้น เมื่อเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเคลื่อนที่เข้ามายังชั้นบรรยากาศโลก จะเสียดสีกับแก๊สในชั้นบรรยากาศ เกิดความร้อนสูงจนลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบพาดผ่านท้องฟ้า ยิ่งวัตถุมีขนาดใหญ่ แสงสว่างที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย นักวิทยาศาสตร์เรียกดาวตกที่มีแสงสว่างมาก หรือมีค่าโชติมาตรปรากฏประมาณ -4 (ความสว่างเทียบเท่าความสว่างของดาวศุกร์) ว่า ลูกไฟ (Fireball) และหากมีความสว่างเทียบเท่ากับความสว่างของดวงจันทร์เต็มดวง หรือเกิดการระเบิดขึ้นกลางอากาศ นักดาราศาสตร์จะเรียกว่าดาวตกชนิดระเบิด (Bolide)

            ดาวตก ลูกไฟ  และ ดาวตกชนิดระเบิด ต่างมีความน่าสนใจทั้งสิ้น แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ เหตุการณ์ลูกไฟตก หรือ ดาวตกชนิดระเบิด เนื่องจากอาจมีชิ้นส่วนที่หลงเหลือจากการเผาไหม้แล้วโลกตกถึงพื้นโลกได้ เราเรียกวัตถุที่ตกถึงพื้นผิวโลกว่า อุกกาบาต (Meteorite)

 

as20200714 2 02

ภาพแสดงชื่อเรียกวัตถุท้องฟ้าขณะที่เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก

 

ทั้งนี้ ลูกไฟหรือ  ดาวตกชนิดระเบิดจะสว่างมากจนเราสามารถเห็นได้ในเวลากลางวันใน ซึ่งจะทำให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากจะมีผู้พบเห็นเหตุการณ์จำนวนมาก จึงสามารถแกะรอยเส้นทางได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสที่จะมีชิ้นส่วนหลงเหลือถึงพื้นโลกและสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตก็จะมากยิ่งขึ้นด้วย

 

ความเสียหายจากการพุ่งชนพื้นผิวโลกจากวัตถุในอวกาศสามารถดูได้จากหลุมอุกกาบาตที่กระจายอยู่ทั่วโลก บรรดานักล่าอุกกาบาต หรือนักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับอุกกาบาตจะค้นหาชิ้นส่วนของอุกกาบาตเพื่อระบุประเภทของอุกกาบาต องค์ประกอบทางเคมี และประเมินย้อนกลับถึงความเป็นไปได้ว่าชิ้นส่วนอุกกาบาตที่ค้นพบนั้น มาจากวัตถุต้นกำเนิดชนิดใด

หมายเหตุ: ชื่อเรียกวัตถุท้องฟ้าขณะที่เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลกนั้น ผู้เขียนจะอภิธานศัพท์ในการเรียก meteor หรือ meteoroid ว่า “ดาวตก” แทนคำว่า “สะเก็ดดาว” เนื่องจากคำว่าสะเก็ดดาวนั้นอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเศษชิ้นส่วนหรือสะเก็ดของดาวฤกษ์ โดยดาวตกนี้จะหมายรวมถึงวัตถุต้นกำเนิดทั้งหมด อาทิ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย หรือวัตถุขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศโลก 

 

เรียบเรียง : ธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.



อ้างอิง :

[1] https://cneos.jpl.nasa.gov/fireballs/intro.html

[2] https://skyandtelescope.org/astronomy-blogs/explore-night-bob-king/fireball-ontario-meteorites/

[3] https://www.theweathernetwork.com/news/articles/fireball-meteor-turns-night-to-near-daylight-over-siberia/75602