หอดูดาวโบราณปักกิ่ง : หอดูดาวหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง

หอดูดาวโบราณปักกิ่ง (“เป่ย์จิงกู่กวานเซี่ยงไถ” อักษรจีนตัวเต็ม: 北京古觀象臺 อักษรจีนตัวย่อ: 北京古观象台) เป็นอาคารหอดูดาวสำหรับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ก่อนที่จะเริ่มประยุกต์ใช้กล้องโทรทรรศน์ในการสังเกตการณ์ตามแบบดาราศาสตร์สมัยใหม่ในจีน ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของประเทศจีน

as20201011 1 01

ภาพถ่ายหอดูดาวโบราณปักกิ่ง [ที่มาของภาพ : www.china.org.cn ]

 

อาคารหอดูดาวสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1442 ตรงกับช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิเจิ้งถ่งแห่งราชวงศ์หมิง ตัวหอดูดาวเป็นป้อมปราการแห่งหนึ่งบนแนวกำแพงกรุงปักกิ่งในสมัยนั้น มีลักษณะเป็นตัวอาคารก่ออิฐมีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร สูง 15 เมตร มีอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์อยู่บนดาดฟ้าของอาคาร

หอดูดาวโบราณปักกิ่งในสมัยนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักหอดูดาวหลวง (“ชินเทียนเจียน” อักษรจีนตัวย่อ: 钦天监) แห่งกระทรวงพิธีการภายใต้ราชสำนักจีน มีหน้าที่สังเกตการณ์ตำแหน่งปรากฏของวัตถุท้องฟ้า ทำปฏิทิน ปูมดาราศาสตร์ (ปฏิทินที่คำนวณปรากฏการณ์ท้องฟ้าล่วงหน้า) แผนที่ดาว แล้วส่งบันทึกการสังเกตการณ์และเอกสารทางดาราศาสตร์ให้แก่ราชสำนักจีน ตามความเชื่อว่าปรากฏการณ์ท้องฟ้าสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆบนโลก และท้องฟ้าเบื้องบนมีฐานะเป็น “สวรรค์” ซึ่งองค์จักรพรรดิมีฐานะเป็น “โอรสสวรรค์” (Son of Heaven) ได้รับอาณัติจากสวรรค์ให้มาปกครองแผ่นดิน ดังนั้น จักรพรรดิจึงต้องทรงแสดงให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับสวรรค์ และรักษาไว้ซึ่งอาณัติสวรรค์ ผ่านการทำนายปรากฏการณ์ท้องฟ้าได้อย่างแม่นยำ

อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ของหอดูดาวหลวงในสมัยราชวงศ์หมิงมีหลายตัว ปัจจุบันมีตัวจำลองจัดแสดงในพื้นที่สวนข้างหอดูดาวโบราณปักกิ่ง ได้แก่

- ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อ (“หุนอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 浑仪) ใช้วัดตำแหน่งปรากฏของวัตถุท้องฟ้า

- ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อฉบับย่อ (“เจี่ยนอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 简仪) ใช้วัดตำแหน่งปรากฏของวัตถุท้องฟ้า

- นาฬิกาแดด (“กุยเปี่ยว” อักษรจีน: 圭表) สำหรับบอกวันที่จากการอ่านความยาวเงาในช่วงเที่ยงวัน 

- ลูกทรงกลมท้องฟ้า (“หุนเซี่ยง” อักษรจีนตัวย่อ: 浑象) ใช้เป็นลูกทรงกลมที่แสดงตำแหน่งดาวตามในแผนที่ดาวบนผิวทรงกลม

เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่ช่วงราชวงศ์ชิงปกครองจักรวรรดิจีน เริ่มมีการประยุกต์การสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ตามแบบตะวันตกเข้ามาผ่านบาทหลวงเยซูอิตที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในจีน โดยจักรพรรดิคางซีได้ทรงอนุญาตให้บาทหลวงนักดาราศาสตร์ตะวันตกเหล่านี้รับผิดชอบงานของสำนักหอดูดาวหลวง และแฟร์ดีนันด์ แฟร์บีสต์ (Ferdinand Verbiest) บาทหลวงชาวเบลเยียม ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับสำนักหอดูดาวหลวง สร้างอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ให้เป็นไปตามแบบแผนดาราศาสตร์ตะวันตกจนแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1673

 

as20201011 1 02

ภาพวาดแฟร์ดีนันด์ แฟร์บีสต์ (Ferdinand Verbiest) บาทหลวงชาวเบลเยียมที่ทำงานให้กับสำนักหอดูดาวหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ชิง

 

อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่แฟร์ดีนันด์ แฟร์บีสต์ รับผิดชอบสร้างใหม่ มี 6 ชิ้น ได้แก่

- ลูกทรงกลมท้องฟ้า (“เทียนถี่อี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 天体仪) ใช้เป็นลูกทรงกลมที่แสดงตำแหน่งดาวตามในแผนที่ดาวบนผิวทรงกลม

- ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า (“ชื่อเต้าจิงเหว่ย์อี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 赤道经纬仪) ใช้วัดตำแหน่งปรากฏของดวงดาวในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า

- ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อในระบบพิกัดสุริยวิถี (“หวงเต้าจิงเหว่ย์อี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 黄道经纬仪) ใช้วัดตำแหน่งปรากฏของดวงดาวในระบบพิกัดสุริยวิถี

- วงล้อในแนวระนาบขอบฟ้า (“ตี้ผิงจิงอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 地平经仪) ใช้วัดมุมทิศของดวงดาว

- เครื่องวัดมุมเงย (“เซี่ยงเซี่ยนอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 象限仪) ใช้วัดมุมเงยหรือมุมห่างจากจุดเหนือศีรษะของดวงดาว

- เครื่องวัดระยะเชิงมุม (“จี้เซี่ยนอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 纪限仪) ใช้วัดระยะห่างเชิงมุมระหว่างดวงดาว

 

as20201011 1 03

ภาพวาดแสดงอุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์บนดาดฟ้าหอดูดาวโบราณปักกิ่ง วาดขึ้นในช่วงระหว่าง ค..1697-1782 โดยเป็นภาพประกอบลงในตำรา Nouvel Atlas de la Chine ของ Jean Baptiste Bourguignon d'Anville นักภูมิศาสตร์และนักทำแผนที่ชาวฝรั่งเศส ตีพิมพ์ในปี ค..1737

 

อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ในภาพ จากด้านซ้ายล่างของภาพ วนทวนเข็มนาฬิกาไปด้านบนของภาพ ประกอบด้วยลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อในระบบพิกัดสุริยวิถี ลูกทรงกลมท้องฟ้า ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า วงล้อในแนวระนาบขอบฟ้า เครื่องวัดมุมเงย และเครื่องวัดระยะเชิงมุม

หลังจากนั้น มีอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์อีก 2 ชิ้นที่ติดตั้งบนดาดฟ้าหอดูดาวหลวงแห่งนี้ ได้แก่

- เครื่องวัดมุมทิศและมุมเงย (“ตี้ผิงจิงเหว่ย์อี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 地平经纬仪) ใช้วัดมุมทิศและมุมเงยของดวงดาวพร้อมกัน เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวบนดาดฟ้าหอดูดาวที่สร้างแบบศิลปะตะวันตก สร้างในปี ค.ศ.1715

- ลูกทรงกลมท้องฟ้าแบบวงล้อแบบประณีตในระบบพิกัดศูนย์สูตรฟ้า (“จีเหิงฝู่เฉินอี๋” อักษรจีนตัวย่อ: 玑衡抚辰仪) เป็นอุปกรณ์ที่ใหญ่ที่สุดบนดาดฟ้าหอดูดาว และมีลักษณะศิลปะจีนมากขึ้น สร้างในปี ค.ศ.1744

อุปกรณ์สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์เกือบทั้งหมดบนดาดฟ้าหอดูดาวแห่งนี้มีลักษณะ “ตะวันออกผสมตะวันตก” ตามรูปแบบศิลปะจีน และแบบแผนดาราศาสตร์ตะวันตก นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวหลวงสมัยราชวงศ์ชิงได้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ จัดทำตำรา “อี๋เซี่ยงเข่าเฉิง” (อักษรจีนตัวย่อ: 仪象考成) บัญชีข้อมูลดวงดาว 3,083 ดวงพร้อมแผนที่ดาว ในปี ค.ศ.1744 และตำรา “อี๋เซี่ยงเข่าเฉิงซวี่เปียน” (อักษรจีนตัวย่อ: 仪象考成续编) บัญชีข้อมูลดวงดาว 3,240 ดวงในปี ค.ศ.1844

 

as20201011 1 04

แผนที่ดาวซีกฟ้าเหนือที่คัดลอกจากตำรา อี๋เซี่ยงเข่าเฉิงซึ่งข้อมูลในตำราฉบับนี้เป็นผลจากการสังเกตการณ์ของหอดูดาวโบราณปักกิ่ง

 

ในช่วงที่เกิดกบฏนักมวยจนมีการปะทะกันระหว่างชาวจีนกับกองกำลังพันธมิตรแปดชาติในกรุงปักกิ่ง เมื่อปี ค.ศ.1900 ระหว่างการปะทะกัน กองกำลังฝรั่งเศสและเยอรมันที่อยู่ในกองกำลังพันธมิตรได้ยึดอุปกรณ์ดาราศาสตร์ของหอดูดาวส่งไปยังประเทศของตน จนกระทั่งรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีนำกลับมาคืนให้จีนในปี ค.ศ.1902 และ 1921 ตามลำดับ

เมื่อสิ้นสุดการปกครองประเทศจีนของราชวงศ์ชิงในปี ค.ศ.1912 ทำให้สำนักหอดูดาวหลวงที่รับผิดชอบหอดูดาวโบราณปักกิ่งถูกยุบไป หน่วยงาน “หอดูดาวกลาง” ที่ตั้งขึ้นใหม่กลายเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหอดูดาวแห่งนี้ต่อ หอดูดาวโบราณปักกิ่งยังคงเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับวงการดาราศาสตร์จีน อย่างเช่นการประชุมของเหล่านักดาราศาสตร์และนักวิชาการในจีนเพื่อก่อตั้งสมาคมดาราศาสตร์จีน ที่หอดูดาวแห่งนี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ.1922 ก่อนที่จะยุบหน่วยงานหอดูดาวกลาง ยุติการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ของหอดูดาวโบราณปักกิ่ง และเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ ในปี ค.ศ.1929 ก่อนที่จะโอนให้ท้องฟ้าจำลองปักกิ่งเข้ามาดูแลรับผิดชอบ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956 จนถึงปัจจุบัน

ส่วนวงการดาราศาสตร์จีนได้ก้าวจากดาราศาสตร์แบบแผนเดิมที่ใช้เครื่องวัดมุมและเล็งดาววัดตำแหน่งดาว มาเป็นดาราศาสตร์แบบสมัยใหม่ที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่สังเกตการณ์ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และทางจีนได้สร้างหอดูดาวจื่อจินซาน (Purple Mountain Observatory) ที่เมืองหนานจิง ทางภาคตะวันออกของจีน เปิดใช้งานในปี ค.ศ.1934 ซึ่งเป็นหอดูดาวแบบมีกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ หอดูดาวจื่อจินซานจึงกลายเป็นศูนย์กลางทางดาราศาสตร์ของจีนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แทนที่หอดูดาวโบราณปักกิ่ง และในเวลาต่อมา องค์การ “หอดูดาวแห่งชาติจีน” (NAOC) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2001 ได้กลายเป็นสถาบันหลักในสาขาดาราศาสตร์ของประเทศจีนในปัจจุบัน

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าหอดูดาวโบราณปักกิ่งเป็นหอดูดาวตามดาราศาสตร์แบบแผนเดิมที่ใช้เครื่องวัดมุมและเล็งดาววัดตำแหน่งดาว ทำหน้าที่เป็น “หอดูดาวหลวง” ให้กับราชสำนักจีนช่วงราชวงศ์หมิงและชิง จัดทำแผนที่ดาว ปฏิทิน ปูมดาราศาสตร์ให้กับทางราชสำนัก ซึ่งมาจากอิทธิพลความเชื่อว่าองค์จักรพรรดิจีนเป็น “โอรสสวรรค์” ที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้าเบื้องบน ขณะที่ดาราศาสตร์จากชาติตะวันตกมีผลต่อการปฏิบัติงานของหอดูดาวโบราณปักกิ่ง ทั้งระลอกแรกในช่วงต้นราชวงศ์ชิงผ่านบาทหลวงเยซูอิตที่ทำให้ต้องสร้างอุปกรณ์สังเกตการณ์ใหม่ กับระลอกหลังในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่วงการดาราศาสตร์จีนหันมารับดาราศาสตร์สมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าหอดูดาวโบราณปักกิ่งจะไม่ได้ใช้สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แล้ว แต่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ในฐานะมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดาราศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศจีน และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ณ หอดูดาวแห่งนี้อย่างต่อเนื่องเกือบ 500 ปี (ค.ศ.1442-1929) ทำให้หอดูดาวโบราณปักกิ่งเป็นหนึ่งในหอดูดาวเก่าแก่ที่มีบันทึกการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

เรียบเรียงโดย

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

https://en.wikipedia.org/wiki/Beijing_Ancient_Observatory

https://phyblas.hinaboshi.com/20170203

https://phyblas.hinaboshi.com/20170204

http://hua.umf.maine.edu/China/astronomy/tianpage/0020H_diagram9427w.html

http://english.cas.cn/bcas/2012_4/201411/P020141121531515393572.pdf

หนังสือ Moving Stars Changing Scenes : Gems of the Ancient Chinese Astronomy Relics โดย Hong Kong Science Museum ตีพิมพ์ปี ค.ศ.2006