"เทศกาลราตรีแห่งเลขเจ็ด" เทศกาลตามประเพณีร่วมของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม

ในวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา คนไทยหลายคนอาจทราบว่าเป็น “วันที่ 7 เดือน 7” ซึ่งเป็นวันจัดเทศกาลทานาบาตะของญี่ปุ่น ที่มีธรรมเนียมการเขียนคำอธิษฐานลงกระดาษไปผูกกับกิ่งไผ่ แต่ที่จริงแล้วเทศกาล “วันที่ 7 เดือน 7” ไม่ได้มีเพียงในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีในประเทศอื่น ๆ ร่วมภูมิภาค อย่างจีน เกาหลี และเวียดนามด้วย

as20210811 1 01

https://en.wikipedia.org/wiki/File:Tanabata_Festival_in_Edo_(Hiroshige,_1852).jpg

ภาพพิมพ์ไม้ญี่ปุ่น แสดงบรรยากาศเทศกาลทานาบาตะในนครเอโดะ (กรุงโตเกียวในปัจจุบัน) เมื่อปี ค.ศ.1852 วาดโดยฮิโรชิเงะ จิตรกรชาวญี่ปุ่น

 

อักษรจีน 七夕 แปลว่า "ราตรีแห่งเลขเจ็ด" อ่านออกเสียงต่างกันตามแต่ละภาษาในเขตวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม) ดังนี้

- จีนกลาง : ชีซี่ (Qixi)

- เกาหลี : ชิลซ็อก (Chilseok / 칠석)

- ญี่ปุ่น : ทานาบาตะ (Tanabata / たなばた)

- เวียดนาม : เทิ้ตถิก (Thất Tịch)

ตำนานเกี่ยวกับเทศกาล "ราตรีแห่งเลขเจ็ด" ตามประเทศเหล่านี้ มีต้นกำเนิดจากนิทานดาวเรื่อง "หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า" โดยชื่อตัวเอกในแต่ละประเทศของเรื่องมาจากอักษรจีนตัวเดียวกันคือ หนุ่มเลี้ยงวัว (ดาวอัลแตร์ในกลุ่มดาวนกอินทรี) และสาวทอผ้า (ดาวเวกาในกลุ่มดาวพิณ)

- จีนกลาง : หนิวหลาง (ช) กับ จือหนวี่ (ญ)

- เกาหลี : คยอนู / 견우 (ช) กับ ชิงนยอ / 직녀 (ญ)

- ญี่ปุ่น : ฮิโกโบชิ / ひこぼし (ช) กับ โอริฮิเมะ / おりひめ (ญ)

- เวียดนาม : งืวลาง/Ngưu Lang (ช) กับ จึ๊กหนือ/Chức Nữ (ญ)

 

as20210811 1 02

http://en.people.cn/NMediaFile/2020/0825/FOREIGN202008251607000070577257429.jpg

ภาพวาดแสดงตัวเอกของนิทานดาวเรื่อง “หนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า” ของจีน ได้แก่ หนิวหลาง (ซ้าย) จือหนวี่ (ขวา) และเหล่าฝูงนก [Credit ภาพ : People’s Daily]

 

เนื้อเรื่องหลักจะเป็นเรื่องเทพธิดาทอผ้าและชายหนุ่มผู้เป็นมนุษย์ที่ตกหลุมรักกัน แต่เพราะความรักระหว่างชาวสวรรค์กับชาวมนุษย์นั้นผิดกฎสวรรค์ จึงถูกกีดกันความรักให้อยู่คนละฝั่งแม่น้ำหรือแม่น้ำบนสวรรค์ (ทางช้างเผือก) จนได้รับคำอนุญาตให้เจอกันได้ปีละครั้งในคืนวันที่ 7 เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (ตกประมาณเดือนสิงหาคม) โดยมีฝูงนกบินเกาะกลุ่มกันเป็นสะพานให้ทั้งสองเดินขึ้นไปเจอกัน หากค่ำคืนนั้นมีฝนตก ทั้งคู่จะไม่ได้เจอกัน

นิทานเรื่องสาวทอผ้าและหนุ่มเลี้ยงวัว มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดจากกวีนิพนธ์คลาสสิกจีน (Classic of Poetry/詩) ในส่วน "เสียวหย่า" (小雅 / Xiǎo yǎ) ที่แต่งขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8-9 ก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และเป็นเรื่องเล่าที่แพร่หลายเกินพันปี

เนื่องจากการเผยแพร่ที่กินพื้นที่กว้างและเป็นเวลานาน นิทานเรื่องนี้ จึงมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นแต่ละสมัย ความหลากหลายของเนื้อเรื่องและธรรมเนียมเทศกาล เช่น

- หนุ่มเลี้ยงวัว : นิทานดาวในเวียดนามมีทั้งแบบที่เรียกว่า “หนุ่มเลี้ยงวัว” หรือ “หนุ่มเลี้ยงควาย”

- หากฝนตกในคืนนั้น บ้างก็ว่าเป็นน้ำตาของทั้งคู่ที่ไม่ได้เจอกัน บ้างก็ว่าทำให้น้ำในแม่น้ำสูงขึ้นจนทำให้ฝูงนกเกาะกลุ่มเป็นสะพานไม่อยู่

- อาหารหรือขนมที่กินในเทศกาล : ชาวบ้านแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีในจีนจะกินขนมเค้กทำจากแป้ง งา น้ำตาลและน้ำผึ้ง เรียกว่า “เฉียวกั่ว” (巧果) ชาวเกาหลีจะกินอาหารจำพวกแป้งสาลี เช่น แพนเค้กแป้งสาลี “มิลจ็อนบย็อง” (밀전병) หรือขนมเค้กข้าวหุ้มด้วยถั่วแดง “ซีรูต็อก” (시루떡) ส่วนชาวเวียดนามหนุ่มสาวจะกินน้ำแข็งไสถั่วแดงในฐานะของหวานมงคลประจำเทศกาล เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักเป็นไปได้ด้วยดีหรือขอให้หาคู่ได้

 

as20210811 1 03

https://tuoitrenews.vn/news/society/20200827/saigon-vendors-rush-to-slake-craving-for-red-bean-soup-on-chinese-valentines-day/56407.html

“น้ำแข็งไสถั่วแดง” ของหวานมงคลของคนหนุ่มสาวประจำเทศกาลเทิ้ตถิกในเวียดนาม [Credit ภาพ : Phan Tran / Tuoi Tre]

 

- ธรรมเนียมการขอพรในเทศกาล : หญิงสาวชาวจีนสมัยก่อนจะมีธรรมเนียมในเทศกาลชีซี่ขอพรให้ตนเก่งด้านงานบ้านงานเรือน มีชีวิตสมรสที่ดี หรือหาสามีในอนาคต ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจะเขียนคำขอพรลงกระดาษไปผูกกับกิ่งไผ่ในเทศกาลทานาบาตะ

 

as20210811 1 04

https://folkency.nfm.go.kr/en/dic/2/picture/16137

ภาพถ่ายหญิงคนเกาหลีรุ่นอาวุโส กำลังขอพรจากดาวเวกาในฐานะ “เทพธิดาสาวทอผ้าชาวสวรรค์” เพื่อให้ฝีมืองานบ้านงานเรือนของตนดีขึ้นตามธรรมเนียมเทศกาลชิลซ็อกในเกาหลีสมัยก่อน [Credit ภาพ : National Folk Museum of Korea]

 

นอกจากความแตกต่างในด้านนิทานดาวและธรรมเนียมต่าง ๆ ในเทศกาล “ราตรีแห่งเลขเจ็ด” แล้ว ยังมีเรื่องของปฏิทินที่ทำให้เทศกาลทานาบาตะของญี่ปุ่น จัดในช่วงเวลาต่างไปจากฝั่งจีน เกาหลี และเวียดนามด้วย

จีน เกาหลี และเวียดนามยังคงใช้ปฏิทินจันทรคติของตน ทำให้เทศกาลต่าง ๆ ยังอ้างอิงตามปฏิทินจันทรคติ เช่น เทศกาลปีใหม่พื้นเมือง ที่วันตรุษจีน ตรุษเกาหลี (ซ็อลลัล/설날) และตรุษญวน (เต๊ต/ Tết) ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลชีซี่ของจีน ชิลซ็อกของเกาหลี และเทิ้ตถิกของเวียดนาม ที่ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ในปฏิทินจันทรคติจึงตรงกับเดือนสิงหาคม ซึ่งในปี ค.ศ.2021 - 2025 จะตรงกับวันที่ต่อไปนี้

- 14 สิงหาคม ค.ศ.2021

- 4 สิงหาคม ค.ศ.2022

- 22 สิงหาคม ค.ศ.2023

- 10 สิงหาคม ค.ศ.2024

- 29 สิงหาคม ค.ศ.2025

 

as20210811 1 05

http://www.dailymunwha.com/news/articleView.html?idxno=701

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเทศกาลชิลซ็อก ค.ศ.2019 ของหมู่บ้านวัฒนธรรมพื้นบ้านเกาหลียงอิน (Korean Folk Village) ธีมปาร์คแนววัฒนธรรมพื้นบ้านเกาหลี ในวันที่ 3-18 สิงหาคม ซึ่งในปีนั้น “วันที่ 7 เดือน 7“ ตามปฏิทินจันทรคติเกาหลีตรงกับวันที่ 7 สิงหาคม [Credit ภาพ : Korean Folk Village] 

 

ขณะที่ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจากการใช้ปฏิทินจันทรคติไปใช้ปฏิทินสากล และส่งผลถึงการปรับช่วงเวลาของเทศกาลพื้นเมืองของตนให้สอดคล้องกับปฏิทินสากลไปด้วย เช่น ตรุษญี่ปุ่น (โชวงัตสึ/正月) ที่เคยตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ไปรวมกับวันปีใหม่สากล (วันที่ 1 มกราคม) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1873 เทศกาลทานาบาตะของญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน พื้นที่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นปรับวันจัดเทศกาลทานาบาตะจากวันที่ 7 เดือน 7 ในปฏิทินจันทรคติ (เดือนสิงหาคม) มาเป็นวันที่ 7 กรกฎาคม ตามปฏิทินสากล

แต่พื้นที่บางแห่งในญี่ปุ่น เช่น เมืองเซนได จัดเทศกาลทานาบาตะในวันที่ 7 สิงหาคม ใช้วิธีพบกันครึ่งทางระหว่างปฏิทินสากลกับปฏิทินจันทรคติ ซึ่งใช้เลขวันที่เดิมมาตกในปฏิทินสากล แต่ให้ช้าไป 1 เดือนให้ใกล้เคียงกับปฏิทินจันทรคติ หรือบางพื้นที่ในญี่ปุ่นยังคงจัดในเดือนสิงหาคม ตามวันที่ 7 เดือน 7 ในปฏิทินจันทรคติ เพื่อรักษาความเป็นเทศกาลในแต่ละฤดูกาลไว้

 

as20210811 1 06

https://www.wdm.co.jp/blog/2015/07/17/sendai-tanabata-fes/

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานจุดพลุสำหรับเทศกาลทานาบาตะ ค.ศ.2015 ซึ่งมีในวันที่ 5 สิงหาคม สังเกตตัวบอกวันและเดือนในภาษาญี่ปุ่นว่า “8月5日” [Credit โปสเตอร์ : WDM]

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

- https://findchina.info/qixi-festival-and-story-chinese-valentines-day

- https://news.cgtn.com/news/3d3d674e7859544e79457a6333566d54/share_p.html

- https://folkency.nfm.go.kr/en/topic/detail/5427

- https://www.nippon.com/en/features/jg00097/

- https://www.sendaitanabata.com/en

- https://www.japan-guide.com/e/e2283.html

- http://teacherlink.ed.usu.edu/tlnasa/reference/imaginedvd/files/imagine/docs/ask_astro/answers/970511c.html

- https://saigoneer.com/saigon-culture/19162-ghosts-and-other-myths-how-vietnam-celebrates-the-7th-lunar-month

- https://www.dienmayxanh.com/kinh-nghiem-hay/that-tich-la-ngay-gi-nguon-goc-va-y-nghia-le-that-1281795

- https://tuoitrenews.vn/news/society/20200827/saigon-vendors-rush-to-slake-craving-for-red-bean-soup-on-chinese-valentines-day/56407.html

 

เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.