เนื่องจากวันจันทร์ที่ 12 กรกฏาคม พ.ศ.2564 ตรงกับวันที่ 1 เดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah เดือนที่ 12 ในปฏิทินอิสลาม) ฮ.ศ.1443 ดังนั้น วันที่ชาวไทยมุสลิมจะต้องออกมาสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในครั้งต่อไปคือ ช่วงเย็นเวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าวันที่ 29 เดือนซุลฮิจญะฮ์ ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 เพื่อที่จะกำหนดวันขึ้นปีใหม่ หรือวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (Muharam เดือนที่ 1 ในปฏิทินอิสลาม) วันสำคัญประจำเดือนมุฮัรรอมจะเป็นวันที่ 10 ของเดือน จะมีชื่อเรียกว่าวันอาซูรอ (“อาซูรอ” เป็นชื่อจากภาษาอาหรับ มีความหมายว่าสิบ) ซึ่งวันอาซูรอในปีนี้จะตรงกับวันไหนขึ้นอยู่กับผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรกในวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า
รูปที่ 1 แผนที่การคาดการณ์บริเวณที่จะสามารถสังเกตเห็นจันทร์เสี้ยวแรก (Hilai)
วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 พื้นที่สีส้มไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ พื้นที่สีเหลืองสามารถเห็นดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และพื้นที่สีเขียวสามารถเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่า
https://webspace.science.uu.nl/~gent0113/islam/1443/1443g_01b.pdf
หากผลการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ในวันเวลาดังกล่าว มีผู้คนที่สามารถเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะกำหนดให้วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยมุสลิม วันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (Muharam เดือนที่ 1 ในปฏิทินอิสลาม) ประจำปี ฮีจเราะห์ศักราช 1443 และยังสามารถกำหนดวันสำคัญประจำเดือน คือ วันอาซูรอ วันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม (Muharam) ก็จะตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564
แต่หากวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2564 เวลาหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ไม่มี ผู้คนเห็นดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) ชาวไทยมุสลิมก็จะต้องนับให้วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2564 เป็นวันที่ 30 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Zul Hijah) เป็นวันสุดท้ายของเดือน
หรือเป็นวันสิ้นปี ฮ.ศ.1442
และเมื่อดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ก็จะเป็นเวลาเริ่มต้นปีใหม่ทันที
และนับได้ว่าวันที่ 1 เดือนมุฮัรรอม (Muharam) ฮ.ศ.1443
ก็ตรงกับวันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2564 และวันอาซูรอ หรือวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม (Muharam) ก็จะตรงกับ วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564
ข้อมูลของดวงจันทร์
ดวงจันทร์ดับเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 20:41 น. ดังนั้น ในช่วงเวลาทำการสังเกตดวงจันทร์เสี้ยวแรก (Hilal) เวลาดวงอาทิตย์ตก วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 เขตพื้นที่ประเทศไทย อายุของดวงจันทร์ประมาณ 22 ชั่วโมง
- อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ดวงจันทร์ตกหลังดวงอาทิตย์ 49 นาที
ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:34 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 286 องศา
ดวงจันทร์ตกเวลา 19:23 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 287 องศา
- จังหวัดกรุงเทพฯ ดวงจันทร์ตกหลังดวงอาทิตย์ 49 นาที
ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:43 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 286 องศา
ดวงจันทร์ตกเวลา 19:32 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 287 องศา
- อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดวงจันทร์ตกหลังดวงอาทิตย์ 50 นาที
ดวงอาทิตย์ตกเวลา 18:55 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 287 องศา
ดวงจันทร์ตกเวลา 19:45 น. ที่มุมทิศ (Azimuth) ที่ 287 องศา
รูปที่ 2 ภาพแสดงตำแหน่งของดวงจันทร์ ที่เวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก
ตำแหน่งผู้สังเกตอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564
*หมายเหตุ การกำหนดวันที่ 1 ของเดือนกอมารียะห์ (เดือนของปฏิทินอิสลาม) ให้ยึดผลการสังเกตการณ์ดวงจันทร์เสี้ยวแรก (ฮีลาล) หรือผลประกาศจากสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นหลัก
เรียบเรียงโดย
รอยาลี มามะ
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อ้างอิงภาพ
รูปที่ 1 https://webspace.science.uu.nl/~gent0113/islam/islam_lunvis_main.htm
รูปที่ 2 ภาพจากซอฟต์แวร์ดาราศาสตร์ (Stellarium)