นักดาราศาสตร์ไทยหนึ่งเดียวในภารกิจ JWST

แนะนำตัวเอง

ผมชื่อ “แก้ว” สมาพร ติญญนนท์ ปัจจุบันเป็นนักดาราศาสตร์หลังจบปริญญาเอก (postdoctoral researcher) ที่ University of California Santa Cruz

as20220209 1 01

 

ทำไมถึงสนใจมาเรียนดาราศาสตร์?

เริ่มสนใจดาราศาสตร์มาตั้งแต่สมัยประถม คุณพ่อคุณแม่เป็นบรรณารักษ์​ทั้งคู่ ผมเลยมีโอกาสไปห้องสมุดอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก แต่เหตุการณ์นึงที่จำแม่นมากคือพ่อแม่ให้ของขวัญวันเกิดด้วยการพาไปดูฝนดาวตกลีโอนิดส์ น่าจะเป็นปี 2544 ที่ฝนดาวตกลีโอนิดส์มีอัตราการตกค่อนข้างมาก ดาวตกเยอะเต็มฟ้า นอกจากดาวตกแล้วยังได้ส่องดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ด้วย เป็นภาพที่ประทับใจมาก

หลังจากนั้น สมัยมัธยมต้น ผมได้มีโอกาสไปเข้าค่ายดาราศาสตร์โอลิมปิกที่สมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้เรียนเนื้อหาทางเทคนิคของดาราศาสตร์ควบคู่ไปกับการฝึกใช้กล้องใช้อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ได้เห็นว่างานวิจัยดาราศาสตร์นั้นทำยังไง มีผลอะไรต่อความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเราในเอกภพ หลังจากนั้นผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่าอยากเรียนต่อสาขานี้

 

as20220209 1 02

จุดสีขาวสว่างที่มุมซ้ายล่างคือซูเปอร์โนวา SN1994D ที่เกิดขึ้นในกาแล็กซี NGC 4526 ห่างออกไปจากโลกประมาณ 55 ล้านปีแสง

[Credit : NASA/ESA]

 

เล่าเรื่องงานวิจัยที่ทำอยู่

งานวิจัยหลักของผม คือการศึกษาวิวัฒนาการของดาวฤกษ์มวลมาก ดาวพวกนี้มีค่อนข้างน้อยในเอกภพ แต่ว่าวงจรชีวิตของมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกาแล็กซีมากๆ ดาวพวกนี้ตายด้วยการระเบิดที่เรียกว่าซูเปอร์โนวา (supernova) ซึ่งผลิตธาตุหนัก เช่น คาร์บอนซึ่งเป็นธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ออกซิเจนที่เราหายใจ แคลเซียมในกระดูก ฯลฯ ปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือเราไม่รู้ว่าดาวฤกษ์มวลมากพวกนี้เป็นอย่างไรก่อนมันจะตาย ตัวอย่างคือ ต้นปีที่แล้วตอนดาวบีเทลจุสจางลง นักดาราศาสตร์ไม่รู้เลยว่ามันหมายความว่าดาวกำลังจะระเบิดหรือเปล่า เรารู้จักดาวฤกษ์มวลมากในทางช้างเผือกเป็นพันดวง แต่เราไม่รู้เลยว่าแต่ละดวงจะวิวัฒนาการต่อไปอย่างไรในอนาคต จะตายแล้วกลายเป็นซูเปอร์โนวาเมื่อไหร่ เราพยายามตอบคำถามเหล่านี้ด้วยการศึกษาซูเปอร์โนวาที่อยู่นอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งแต่ละปีจะมีที่สว่างๆ ประมาณ 100 ดวง (เทียบกับในกาแล็กซีทางช้างเผือกซึ่งไม่พบมาแล้ว 400 กว่าปี) การศึกษาเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของดาวยักษ์ใหญ่พวกนี้ดีขึ้น

 

คลิปจำลองดาวบีเทลจุสที่ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมาจำนวนมาก

 

พูดถึงดาวบีเทลจุส กล้อง JWST จะสามารถดูบีเทลจุสและตอบคำถามเกี่ยวกับมันได้บ้างไหม?

ดาวบีเทลจุส อาจจะสว่างเกินไปสำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดใหญ่อย่าง JWST แต่ว่าสำหรับดาวฤกษ์มวลมากหลายดวงในกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้น เราอาจใช้ JWST ส่องหาฝุ่นและแก๊สรอบๆ ดาวพวกนั้นได้ คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของดาวฤกษ์มวลมากคือ มันสามารถสูญเสียมวลจากกลไกที่คล้ายกับลมสุริยะแต่แรงกว่าประมาณ 1,000 เท่า หรือจากการแลกเปลี่ยนมวลกับดาวคู่ของมัน การสูญเสียมวลนั้นจะส่งผลกระทบกับชีวิตที่เหลือของดาวฤกษ์เป็นอย่างมาก ดาวฤกษ์บางดวงสูญเสียมวลมากจนไฮโดรเจนในชั้นบรรยากาศหายไปหมด เหลือแต่ฮีเลียมและธาตุหนักอื่นๆ การสูญเสียมวลนี้ยังส่งผลโดยตรงต่อซูเปอร์โนวาที่บั้นปลายชีวิตของดาวอีกด้วย JWST จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาสสารรอบๆ ดาว (circumstellar medium) ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าฝุ่นในบริเวณนี้มีอุณหภูมิต่ำ เห็นได้แต่ในช่วงคลื่นอินฟราเรด นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อีกอย่างใน JWST ที่เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ นั่นคือโคโรนากราฟ (coronagraph) ทำหน้าที่บังแสงดาวที่สว่างมากๆ ช่วยให้เราเห็นวัตถุจางๆ รอบดาวที่สว่างได้เป็นอย่างดี อุปกรณ์ตัวนี้สร้างขึ้นมาเพื่อหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แต่ว่าเราสามารถใช้มันเพื่อหาสสารรอบดาวฤกษ์มวลมากได้เช่นกัน

 

as20220209 1 03

ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์
[Credit : NASA]

 

คิดว่า JWST น่าตื่นเต้นแค่ไหนสำหรับวงการดาราศาสตร์ และอะไรที่ทำให้กล้องนี้แตกต่างจากกล้องอื่น ๆ ?

JWST จะปฏิวัติวงการดาราศาสตร์ในหลายๆ ด้าน คุณสมบัติหลักที่แตกต่างจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble space telescope) ซึ่งเป็นกล้องเรือธงตัวปัจจุบันของ NASA คือความไวแสงในช่วงคลื่นอินฟราเรด ช่วงคลื่นนี้มีความสำคัญในทางดาราศาสตร์หลายด้านมาก ได้แก่

1) แสงอินฟราเรดสามารถเดินทางผ่านฝุ่นในอวกาศได้ดีกว่าแสงที่ตามองเห็นมากๆ ทำให้เราสามารถมองหาวัตถุที่ถูกบังอยู่หลังม่านฝุ่นได้อย่างดี

2) เมื่อเราส่องหาวัตถุไกลๆ ในเอกภพ ไม่เพียงแค่เรามองย้อนกลับไปในอดีต แต่แสงดาวก็ถูกเปลี่ยนความยาวคลื่นไปด้วยเนื่องจากการขยายตัวของเอกภพ แสงที่ตาเรามองเห็นในตอนที่เอกภพมีอายุน้อยๆ ปัจจุบันกลายเป็นแสงอินฟราเรดหมดแล้ว

3) โมเลกุลและฝุ่น ซึ่งเป็นปัจจัยในการสร้างดาวเคราะห์แบบโลก และสัญลักษณ์ทางชีวภาพต่างๆ (biosignatures) ล้วนแล้วแต่อยู่ในช่วงคลื่นอินฟราเรด

 

JWST จะช่วยในงานวิจัยของเราได้อย่างไร?

สำหรับงานวิจัยของผม การสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดนั้นมีความสำคัญมาก เพราะว่าแสงจากซูเปอร์โนวาในหลายๆ ปีหลังการระเบิดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงคลื่นอินฟราเรดเนื่องมาจากอุณหภูมิที่ต่ำลง JWST สามารถเห็นแสงจากวัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำถึง -147 องศาเซลเซียส ทำให้เราจะเห็นแสงจากฝุ่นรอบๆ ซูเปอร์โนวาที่มีอุณหภูมิต่ำๆ ได้เป็นอย่างดี การสังเกตการณ์เหล่านี้จะช่วยให้เราตรวจจับการกระจายตัวของซากดาวเข้าสู่สสารระหว่างดาว เรารู้ว่าดาวฤกษ์และซูเปอร์โนวาสามารถผลิตธาตุหนักได้ การสังเกตการณ์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดเหล่านี้จะช่วยให้เรารู้ว่าธาตุเหล่านี้ถูกกระจายออกไปในกาแล็กซีได้อย่างไร

สาเหตุที่เราไม่สามารถสังเกตการณ์แสงในช่วงความยาวคลื่นมากๆ พวกนี้จากบนพื้นโลก เนื่องจากชั้นบรรยากาศโลก นอกจากนี้กล้องโทรทรรศน์ของเราก็ปล่อยแสงในช่วงคลื่นเหล่านี้ด้วยเช่นกันจากความร้อนของตัวมันเอง แสงรบกวนพวกนี้สว่างกว่าแสงดาวเป็นร้อยเป็นพันเท่า ซึ่ง JWST จะไม่มีปัญหาพวกนี้เนื่องด้วยวงโคจรที่อยู่ไกลโลก ไกลดวงอาทิตย์ และด้วยตัวโล่กันแสงอาทิตย์ที่ติดอยู่กับตัวกล้องจะช่วยลดอุณหภูมิของกล้องให้ต่ำมากๆ เพื่อลดแสงอินฟราเรดจากตัวกล้องด้วย

 

as20220209 1 04 

ภาพเนบิวลาปู (Crab Nebula) ในหลากหลายช่วงคลื่น เป็นซากการระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาของดาวฤกษ์มวลมาก

[Credit : NRAO]

 

ตอนนี้กล้อง JWST ยังไม่ทำงานเลยแต่นักวิจัยสามารถจองเวลาใช้งานได้แล้ว?

JWST มีความสามารถใหม่ๆ ที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เราไม่เคยมีกล้องโทรทรรศน์ที่มีความไวแสงมากเท่านี้ มีความละเอียดสูงขนาดนี้ ในช่วงคลื่นอินฟราเรด เพราะฉะนั้นการสังเกตการณ์แรกๆ นี้แทบจะการันตีว่าจะได้ผลลัพธ์สำคัญสำหรับดาราศาสตร์แทบจะทุกสาขา ด้วยเหตุนี้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกถึงเข้าคิวเพื่อจองเวลา อีกสาเหตุที่อาจจะมีความสำคัญก็คืองบประมาณ หากนักวิจัยได้รับเวลาบนกล้องโทรทรรศน์อวกาศแล้ว NASA จะมีงบประมาณสนับสนุนในการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

 

as20220209 1 05

ภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS ที่ฮาวาย สหรัฐฯ

[Credit: Rob Ratkowski]

 

แล้วตอนนี้ที่กล้องยังไม่ได้ทำงานเท่ากับว่าว่างงานเลยหรือเปล่า หรือว่ามีอย่างอื่นต้องทำไปด้วย?

มีแน่นอนครับ งานหลักของกลุ่มวิจัยของผมที่ UC Santa Cruz คือการหาซูเปอร์โนวาดวงใหม่ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS ที่ฮาวายในโครงการ Young Supernova Experiment เป้าหมายหลักคือการหาซูเปอร์โนวาที่เพิ่งระเบิดได้ไม่กี่ชั่วโมงถึงไม่กี่วัน ในช่วงเวลานี้เราจะสามารถวัดคุณสมบัติหลายประการที่เราไม่สามารถวัดได้ในซูเปอร์โนวาที่มีอายุหลายวันแล้ว คุณสมบัติที่น่าสนใจที่สุดอย่างหนึ่งก็คือสสารรอบๆ ดาวที่ผมเกริ่นถึงในคำถามก่อน ถ้าเรามีสสารรอบดาวที่อยู่ใกล้ดาวที่ระเบิดมากๆ คลื่นกระแทกจากซูเปอร์โนวาจะวิ่งเข้าชนสสารพวกนี้ภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงไม่กี่วันหลังการระเบิด ถ้าเราถ่ายสเปกตรัมในช่วงเวลานี้ได้เราจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสสารรอบดาวพวกนี้อยู่ห่างออกไปจากดาวเท่าไหร่ มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และถูกขับออกมาจากดาวก่อนการระเบิดนานเท่าไหร่ คำถามพวกนี้เราไม่สามารถตอบได้ถ้าเราเริ่มเก็บข้อมูลช้าเกินไป อีกโครงการวิจัยที่ผมเป็นนักวิจัยหลัก (principal investigator) คือโครงการใช้กล้อง Gemini ขนาด 8 เมตรที่ชิลี เพื่อเก็บสเปกตรัมของซูเปอร์โนวาอายุน้อยภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเราตรวจเจอซูเปอร์โนวาใหม่ ข้อมูลจากโครงการนี้เราหวังว่าจะช่วยบอกเราได้ว่าสิ่งแวดล้อมของดาวฤกษ์มวลมากก่อนการระเบิดนั้นเป็นอย่างไร มีสสารรอบๆ มากแค่ไหน ฯลฯ

 

as20220209 1 06

แผนภาพแสดงช่วงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่าง ๆ โดยที่เจมส์เวบบ์จะศึกษาในช่วงอินฟราเรด

[Credit : JWST]

การขอใช้กล้อง JWST นี่ยากไหม ลองเล่าให้ฟังหน่อย

การขอใช้เวลากล้องโทรทรรศน์ส่วนใหญ่นั้นกระบวนการจะคล้ายๆ กัน คือเราต้องเขียนข้อเสนอเข้าไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ สำหรับกล้องโทรทรรศน์บนโลกส่วนใหญ่จะมีปีละสองครั้ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศมีปีละครั้ง ในข้อเสนอนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องอธิบายว่าโครงการของเรามีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง คำถามวิจัยของเราคืออะไรและเราจะตอบคำถามเหล่านี้ด้วยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ที่เราขอเวลาได้อย่างไร จากนั้นเราต้องอธิบายในทางเทคนิคว่าเพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้เราต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ตั้งค่าแบบไหน และจะต้องใช้เวลาโดยรวมเท่าไหร่

ข้อแตกต่างสำคัญที่ทำให้การขอเวลา JWST ยากกว่ากล้องอื่นๆ คือ ปกติแล้วในการขอเวลารอบแรกเราแค่ต้องบอกคร่าวๆ ว่าเราจะใช้อุปกรณ์อะไร ตั้งค่าประมาณไหน ใช้เวลาโดยรวมเท่าไหร่ แล้วหลังจากเราได้เวลาใช้กล้องแล้วเราถึงมาวางแผนแบบละเอียดอีกที แต่สำหรับ JWST นั้น NASA บังคับให้เราวางแผนแบบละเอียดตั้งแต่รอบแรกเพราะว่าการเปลี่ยนค่าต่างๆ สำหรับอุปกรณ์บน JWST นั้นใช้เวลานานมาก การคำนวณเวลาทั้งหมดที่เราต้องการนั้นไม่สามารถทำได้ หากเราไม่วางแผนแบบละเอียดไว้ตั้งแต่แรก ช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนส่งข้อเสนอนั้นวุ่นวายมาก นักดาราศาสตร์หลายคนไม่เคยใช้อุปกรณ์อินฟราเรดมาก่อนก็ต้องมารีบอ่านคู่มือว่าการตั้งค่าต่างๆ ต้องทำยังไงบ้าง ค่อนข้างวุ่นวายทีเดียว แต่ว่านักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ช่วยเหลือกัน ในกลุ่มของผมเราก็เขียนข้อเสนอหลายๆ โครงการ แต่ละคนก็ช่วยกันปรึกษาว่าการตั้งค่าต่างๆ นี้แบบไหนดีที่สุด สุดท้ายแล้วโครงการของทุกคนก็เสร็จได้ส่งตรงเวลา

ข้อดีมากๆ อย่างหนึ่งของกระบวนการขอเวลา JWST และกล้องอื่นๆของ NASA คือระบบ Dual Annonymous คนอ่านข้อเสนอจะไม่รู้ว่าคนเขียนคือใคร และหลังจากได้รับผลการประเมิน เจ้าของโครงการก็ไม่รู้ว่าคนประเมินคือใคร ข้อดีของระบบนี้ก็คือ โครงการวิจัยถูกประเมินด้วยวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ไม่ขึ้นอยู่กับว่าคนเขียนคือใคร มีชื่อเสียงหรือเปล่า นักดาราศาสตร์ที่ไม่มีประสบการณ์ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศมาก่อนเช่นผมก็มีโอกาสได้เวลามากพอๆ กับนักดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ตราบใดที่ข้อเสนอโครงการนั้นเขียนได้ดีเท่าๆ กัน

 

กว่าจะถึงตอนที่กล้อง JWST สามารถทำงานที่เราต้องการได้จะต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย ตั้งแต่การเข้าสู่วงโคจร ค่อยๆ กาง heat-shield ปรับตำแหน่งกระจก ตรวจสอบอุปกรณ์ ฯลฯ รู้สึกตื่นเต้นและลุ้นแค่ไหน

ทั้งตื่นเต้นและกังวลครับ ผมเชื่อว่านักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่มีความมั่นใจว่าทีมวิศวกรได้ทำหน้าที่ตรวจสอบทุกๆ องค์ประกอบของทั้งตัวกล้องโทรทรรศน์และกระบวนการที่ซับซ้อนเพื่อ “กาง” JWST จากรูปแบบพับในจรวดให้ออกมาในรูปแบบที่พร้อมใช้งาน แต่ผมก็ยังลุ้นอยู่ดีเพราะว่ากระบวนการพวกนี้มีหลายขั้นตอนมากๆ และมีหลายจุดที่ถ้าส่วนประกอบเล็กๆ ไม่ทำงานแค่ตัวเดียวก็จะส่งผลกระทบกับทั้งตัวกล้องโทรทรรศน์ ในสถานการณ์แบบนี้บางทีเราวางแผนดีแค่ไหนก็ครอบคลุมความเป็นไปได้ทุกๆ แบบไม่ได้ และความโชคไม่ดีก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หวังว่ากระบวนการกางกล้องจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ถ้าปัญหาเกิดขึ้นก็หวังว่าเป็นอะไรที่วิศวกรสามารถซ่อมแซมได้จากบนโลก

 

as20220209 1 07

ภาพถ่ายกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ในห้องคลีนรูมของนาซา

[Credit : NASA]

 

ถ้าสมมติว่า JWST ล้มเหลว ด้วยเหตุผลบางอย่าง จะเกิดอะไรขึ้นกับงานวิจัยของเรา

(หัวเราะแห้งๆ) งานวิจัยของผมนั้นค่อนข้างโชคดีเพราะว่ามันยังมีคำถามอีกหลายคำถามที่เราสามารถตอบได้จากหอดูดาวบนโลก งานหลักๆ เช่น การหาซูเปอร์โนวาอายุน้อยและเก็บข้อมูลอย่างรวดเร็วนั้นทำได้ดีที่สุดจากบนโลก เพราะว่ากล้องโทรทรรศน์บนพื้นนั้นสามารถเปลี่ยนแผนได้ง่ายและเร็วกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศมากๆ แต่หลายๆ ปัจจัยอย่างการเก็บข้อมูลช่วงคลื่นอินฟราเรดของซูเปอร์โนวาหลายๆ ปีหลังการระเบิดนั้นทำได้ยากจริงๆ จากบนพื้นโลก ถ้า JWST ล้มเหลวงานพวกนี้ก็ต้องเก็บขึ้นหิ้งไปจนกว่าเราจะมีแผนสร้างกล้องทดแทน ซึ่งคงเป็นไปได้ยากจริงๆ

ถ้า JWST ล้มเหลว ผลกระทบทั้งงานวิจัยของเราและทั้งกับวงการดาราศาสตร์ก็คือ NASA อาจจะไม่ได้สร้างกล้องระดับเรือธงแบบฮับเบิลและ JWST ไปอีกนานหลายสิบปี JWST เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงมากๆ ถึงประมาณ ¼ ของงบประมาณด้านดาราศาสตร์ทั้งหมดของ NASA ในกว่าสิบปีที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์หลายคนวิจารณ์ว่าโครงการแบบนี้ความเสี่ยงสูงมากเพราะว่างบประมาณมันไปเบียดบังโครงการเล็กๆ อื่นๆ จนหมด ถ้า JWST ล้มเหลว โอกาสที่นักดาราศาสตร์จะเสนอโครงการแบบนี้ในอนาคตอีกก็จะยากขึ้น

แล้วสำหรับนักวิจัยคนอื่นที่ใช้กล้องอื่นๆ ศึกษาไม่ได้ล่ะ

งานวิจัยดาราศาสตร์ส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบหลายอย่างเพื่อกระจายความเสี่ยง ผมเคยไปช่วยในกระบวนการของบประมาณของ NASA โครงการที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ในอนาคต 100% นั้นมีโอกาสผ่านยากมากเพราะว่าคณะประเมินจะมองว่าความเสี่ยงสูงเกินไป เพราะฉะนั้นเวลานักดาราศาสตร์สร้างโครงการวิจัยนั้น เราจะต้องเผื่อโอกาสที่อุปกรณ์ต่างๆ เสียหรือทำงานไม่ได้เสมอ แต่ JWST เป็นกล้องที่มีความพิเศษมากและใช้อย่างอื่นทดแทนได้ยากจริงๆ หาก JWST ล้มเหลว นักดาราศาสตร์ที่ต้องใช้ช่วงคลื่นอินฟราเรดกลางที่ไม่สามารถเห็นได้ง่ายๆ จากบนโลกอาจจะเขียนโครงการกล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางคล้ายๆ Spitzer ขึ้นมาใหม่เพื่ออย่างน้อยเราจะได้มีอุปกรณ์เก็บข้อมูลไประหว่างที่เรารอกล้องต่อไปที่จะมาแทน JWST

 

หลังจากสิ้นสุดการเป็น postdoc ที่ UCSC แล้ว คิดว่าจะไปทำอะไรต่อ?

ก็คงหาตำแหน่งต่อไป ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งสำหรับดาราศาสตร์คือ ตำแหน่งงานระดับถัดไปมีน้อยลงเรื่อยๆ (มีตำแหน่ง postdoc น้อยกว่าจำนวนนักเรียนจบ ป. เอก และมีตำแหน่งอาจารย์น้อยกว่า postdoc) แต่ข้อดีอย่างหนึ่งของดาราศาสตร์คือการร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเรื่องปกติ กลุ่มวิจัยปัจจุบันมีสมาชิกจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ไต้หวัน ในอดีตผมเคยทำงานกับกลุ่มในญี่ปุ่น สวีเดน แคนาดา ฯลฯ โดยเฉพาะงานวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างซูเปอร์โนวานั้น กลุ่มที่มีสมาชิกและหอดูดาวกระจายไปหลายเขตเวลานี้จะได้เปรียบมาก เพราะว่ากลุ่มนั้นจะมีหอดูดาวที่ใช้ได้ทุกเมื่อและมีสมาชิกที่อยู่ในเวลากลางวันทุกเมื่อ ประเทศไทยและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบมากสำหรับงานวิจัยแบบนี้ เพราะว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ใช้หาซูเปอร์โนวาใหม่นั้นเกือบทั้งหมดอยู่ในอเมริกาเหนือและใต้ ดังนั้นเมื่อหอดูดาวเหล่านั้นค้นพบวัตถุใหม่ๆ ก็จะเป็นช่วงหัวค่ำที่ไทยพอดี หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย เราสามารถเริ่มติดตามวัตถุเหล่านั้นได้ทันที ผมค่อนข้างตื่นเต้นมากที่จะเริ่มการวิจัยดาราศาสตร์เกี่ยวกับวัตถุที่วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว (transient astronomy) ที่ไทย

 

 as20220209 1 08

[Credit : ESA]

 

สุดท้ายนี้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่เรียกได้ว่าเป็นกล้องชั้นนำของโลกนี้ มีอะไรอยากจะฝากไปถึงน้องๆ นักเรียนไทยที่อาจจสนใจในวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์บ้างไหม?

ดาราศาสตร์เป็นสาขาวิทยาศาสตร์ที่มีเรื่องน่าตื่นเต้นมากมายตลอดเวลา และเป็นสาขาที่เมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่นแล้วค่อนข้างเปิดกว้างมาก กล้องโทรทรรศน์ระดับโลกหลายๆแห่ง รวมไปถึงฮับเบิลและ JWST ที่ใครก็สามารถขอใช้เวลาได้ ไม่ขึ้นอยู่กับประเทศหรือสถาบันวิจัย ภายในระยะเวลาประมาณ 5 ปีต่อจากนี้นักเรียนทุนรัฐบาลไทยสาขาดาราศาสตร์จะเริ่มกลับไปทำงานที่ไทยมากขึ้น และเราจะนำงานวิจัยของเรากลับไปทำที่ไทยอีกด้วย โอกาสทำวิจัยดาราศาสตร์ระดับแนวหน้าสำหรับนักเรียนไทยในทุกๆ ระดับก็กำลังจะมีเพิ่มขึ้น และด้วยเครือข่ายที่เรามีอยู่กับเพื่อนร่วมงานต่างชาติ โอกาสที่เราจะส่งนักเรียนไปทำงานวิจัยภาคฤดูร้อน หรือสมัครเรียนปริญญาเอกโดยตรงกับมหาวิทยาลัยต่างชาติก็มีมากขึ้นด้วย

ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีอนาคตสดใส และสำหรับน้องๆ นักเรียนไทยที่สนใจทำวิจัยสาขานี้ โอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศกำลังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายผมอยากฝากไว้ว่า การศึกษาดาราศาสตร์นั้นเป็นลักษณะนิสัยของมนุษยชาติ ทุกอารยธรรมในอดีตต่างมีการศึกษาท้องฟ้าและดวงดาว รวมทั้งสยามและประเทศไทย ในหลายร้อยหลายสิบปีที่ผ่านมา งานวิจัยดาราศาสตร์สมัยใหม่ค่อนข้างจำกัดอยู่ในประเทศตะวันตก แต่แนวโน้มนี้กำลังเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน ผมอยากให้น้องๆ คนไทยได้เห็นว่าดาราศาสตร์ปัจจุบันมีความเป็นนานาชาติมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น และไม่อยากให้น้องๆ เห็นว่าการวิจัยดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว เป็นไปไม่ได้สำหรับเรา อย่างที่ผมเคยต้องคิดสมัยที่ผมเรียนมัธยมปลายครับ