สถานีอวกาศนานาชาติปรับหมุนทิศทางอย่างไร ?

สถานีอวกาศนานาชาติปรับหมุนทิศทางอย่างไร ? ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Control Moment Gyroscope (CMG) | Control Moment Gyroscope (CMG) คืออะไร ?

CMG เป็นอุปกรณ์ช่วยรักษาระดับทิศทางของแกนหมุนจากการทำงานของไจโรสโคป (Gyroscope) ที่อาศัยอุปกรณ์ลักษณะคล้ายล้อหมุนเร็วจนเกิดโมเมนตัมเชิงมุมขึ้น ทำให้ยังคงรักษาทิศทางไว้ได้ และสามารถเอียงในทิศทางต่างๆ ได้โดยอิสระ หลักการนี้ถูกนำไปใช้กับเข็มทิศ ระบบการบินอัตโนมัติ (Autopilot) ของเครื่องบิน กลไกบังคับหางเสือของตอร์ปิโด อุปกรณ์ป้องกันการกลิ้งบนเรือใหญ่ และระบบนำร่องเฉื่อย (Inertial guidance)

as20191010 2 01

อุปกรณ์นี้สำคัญอย่างไรกับสถานีอวกาศ?

ยานสำรวจอวกาศส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงขับดันในการปรับตำแหน่งยาน แต่สถานีอวกาศนานาชาติจะใช้ CMG เนื่องจากใช้เพียงพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้อย่างไม่จำกัด ต่างจากการใช้เชื้อเพลิงขับดันที่ต้องเติมเชื้อเพลิงใหม่อยู่เสมอ นอกจาก CMG จะมีหน้าที่รักษาตำแหน่งการโคจรของสถานีเอาไว้แล้ว ยังมีความสำคัญอย่างมากกับแผงรับแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งไว้บนสถานี เนื่องจากในระหว่างที่โคจรรอบโลกแผงรับแสงอาทิตย์จะได้รับแสงในมุมที่ต่างกันไปในแต่ละตำแหน่ง แม้จะมีวิธีการปรับหมุนเฉพาะแผงรับแสงอาทิตย์แล้ว ยังจำเป็นต้องใช้ CMG ในการปรับหมุนทั้งสถานีเพื่อให้แผงรับแสงอาทิตย์ได้รับแสงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  

เรียบเรียง : ศิวรุต  พลอยแดง - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. 

ที่มา

[1] https://en.wikipedia.org/wiki/Control_moment_gyroscope
[2] หนังสือ The International Space Station: Operating an Outpost in the New Frontier

[3] https://www.youtube.com/watch?v=R_xmf-v6VZc