เราสามารถแยกดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์ในยามค่ำคืนได้คร่าวๆ 2 วิธีคือ สังเกตจากการกระพริบ และ สังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งของดาว
เราจะแยกดาวเคราะห์กับดาวฤกษ์จากการกระพริบได้อย่างไร ?
วิธีนี้เป็นเพียงวิธีคร่าวๆในการแยกดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ สำหรับคนที่ดูดาวเป็นประจำจะทราบว่าแสงของดาวเคราะห์นั้นจะกระพริบน้อยกว่าดาวฤกษ์ (จริงๆก็กระพริบทั้งคู่) เนื่องจากดาวฤกษ์ห่างไกลจากโลกมาก แสงที่เดินทางมายังโลกจึงปรากฏเป็นจุดลำแสงขนาดเล็กแม้จะส่องผ่านกล้องโทรทรรศน์แล้วก็ตาม เมื่อปะทะกับชั้นบรรยากาศโลกที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากันและอากาศมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา แสงจึงเคลื่อนไหวตามมวลอากาศ (คล้ายกับจุดแสงที่กระเพื่อมบนน้ำ) ทำให้เรามองเห็นดาวฤกษ์กระพริบถี่กว่า
ส่วนดาวเคราะห์อยู่ใกล้โลกมากกว่าดาวฤกษ์ แสงของดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากดาวเคราะห์จึงมีลักษณะเป็นลำแสงที่มีขนาดกว้างกว่า ส่งผลให้เห็นรูปร่างของดาวเคราะห์เมื่อสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ ลำแสงที่กว้างนี้ ยังทำให้แสงดาวเคราะห์นิ่งกว่าด้วย เราจึงเห็นดาวเคราะห์กระพริบน้อยกว่าดาวฤกษ์
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมวลอากาศและตำแหน่งปรากฏของดาวเคราะห์ด้วย หากดาวเคราะห์ปรากฏบริเวณใกล้ขอบฟ้าซึ่งมีความแปรปรวนของชั้นบรรยากาศมากกว่า ก็จะมีโอกาสเห็นการกระพริบได้มากกว่าดาวเคราะห์ที่ปรากฏอยู่กลางศรีษะที่ชั้นบรรยากาศสงบกว่า
เราจะสังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวได้อย่างไร ?
หากเราสังเกตท้องฟ้าทุกคืนที่ตำแหน่งเดียวกันจะพบว่า มีดาวบางดวงเปลี่ยนตำแหน่งปรากฏ แตกต่างจากดาวดวงอื่น ดาวดวงนั้นคือดาวเคราะห์นั่นเอง เนื่องจากดาวเคราะห์อยู่ในระบบสุริยะเช่นเดียวกับโลก ด้วยระยะทางที่ใกล้กว่า ดาวเคราะห์จึงมีตำแหน่งปรากฏไม่คงที่เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ จึงเป็นที่มาของคำว่า Planetes ซึ่งแปลว่า ผู้พเนจร
การใช้กลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 กลุ่ม ช่วยสังเกตการณ์ จะทำให้แยกดาวเคราะห์จากดาวฤกษ์ได้ง่ายขึ้น เพราะดาวเคราะห์เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวจักรราศีทั้ง 12 กลุ่มเท่านั้น เราจึงสังเกตเห็นดาวเคราะห์ได้เฉพาะบริเวณแนวเส้นสุริยะวิธีเท่านั้น ไม่สามารถเห็นดาวเคราะห์ที่บริเวณขั้วฟ้าเหนือและขั้วฟ้าใต้ได้
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
[1] หนังสือ เอกภพ โดย วิภู รุโจปการ
[2] หนังสือ ทวิตภพสยบจักรวาล โดย มาร์คัส โชวน์ และ โกเวิร์ท ชิลลิ่ง
[3] หนังสือ Bad Aatronomy โดย อาจวรงค์ จันทมาศ