“มานิ” ก็ดูดาว

มานิ (Mani) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย อาศัยในผืนป่าเทือกเขาบรรทัด บริเวณจังหวัดพัทลุง สตูล ตรัง และเทือกเขาสันกาลาคีรีในเขตจังหวัด ยะลาและนราธิวาส ชนกลุ่มนี้จะดำรงชีวิตอยู่ในป่าด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ ถึงแม้ทุกวันนี้อิทธิพลของสังคมเมืองจะเริ่มคืบคลานไปยังผืนป่าที่พวกเขาอาศัยอยู่

ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีการติดต่อสื่อสาร มีการนำของป่ามาแลกเงินกับหมู่บ้านใกล้เคียง และมีการจับจ่ายซื้อของกินของใช้เช่นเดียวกับคนในสังคมเมือง

เนื่องจากดาราศาสตร์เป็นศาสตร์เก่าแก่ ที่ฝังรากลึกอยู่ในหลายวัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธ์มานินั้นเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เดิม คาดว่าน่าจะมีองค์ความรู้ดาราศาสตร์สอดแทรกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชากรมานิอยู่บ้างไม่มากก็น้อย หากองค์ความรู้ดาราศาสตร์ได้ฝังรากลึกอยู่ในกลุ่มชาติพันธ์มานิเฉกเช่นกลุ่มคนในหลาย ๆ วัฒนธรรมบนโลกแล้ว การส่งเสริมให้มีการค้นคว้าจดบันทึกและอนุรักษ์ความรู้ดังกล่าวไว้ พร้อมกับเผยแพร่องค์ความรู้ดาราศาสตร์ที่มานิมีอยู่ต่อสาธารณชนถือเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อวงการดาราศาสตร์ ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบนักปราชญ์ด้านดาราศาสตร์ที่เป็นชาวมานิอีกหลายคนก็เป็นได้ และเนื้อหาต่อไปนี้ ผู้เขียนจะขอพาทุกท่านไปท่องโลกดาราศาสตร์ของ “มานิ” ผ่านบทความที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลความรู้ดาราศาสตร์ในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มนี้มาเผยแพร่ให้ทุกคนรับทราบและเข้าถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อให้เราเข้าถึงเขาเหล่านี้ในอีกมุมมองหนึ่ง

ภาพเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา 

YUT04025

(นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ,นายอนุชา เตยแก้ว) และ อาจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (ดร.บรรจง ทองสร้าง)

ขณะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของชาติพันธุ์มานิกับดาราศาสตร์จากผู้นำทัพของมานิ (เฒ่าไข่) ในพื้นที่จังหวัดสตูล

ความสัมพันธ์ของมานิ กับดาราศาสตร์นั้น เริ่มต้นจากที่เรามีความสงสัยว่า

“มานิ จะเรียกดาวเคราะห์แต่ละดวงว่าอย่างไร มีความเชื่ออะไรเกี่ยวกับดาวเคราะห์”

“ดวงดาว แสงสว่างของดวงจันทร์ มีผลกับการออกล่าสัตว์ป่ามาดำเนินชีวิตหรือไม่”

“เวลาย้ายถิ่นฐาน นั้นต้องดูดาวเพื่อประกอบการตัดสินใจหรือไม่”

 “มานิ จะมีปฏิทินใช้เฉกเช่นคนทั่วไปหรือไม่”

“บันทึกด้านดาราศาสตร์ มีอยู่บ้างหรือไม่”

เป็นต้น

เพื่อพิสูจน์ความสงสัยข้างต้น เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ผู้เขียนได้ติดต่อ ดร.บรรจง ทองสร้าง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ผู้ที่มีความสนิทสนมกับกลุ่มมานิ เพื่อเป็นผู้ประสานงานพาเข้าไปในทัพของมานิ (มานิ จะเรียกหมู่บ้านที่ตนอาศัยว่าทัพ) และได้พบกับ นายไข่ ศรีมะนัง หรือเฒ่าไข่ ซึ่งมีศักดิ์เป็นกำนันของทัพ มานิทุกคนจะเชื่อฟัง และยอมรับการตัดสินใจของเฒ่าไข่ หลังจากได้สนทนากับเฒ่าไข่แล้วพบว่าเฒ่าไข่สามารถพูดภาษาไทยท้องถิ่นใต้หรือภาษาใต้กับเจ้าหน้าที่ได้อย่างลื่นไหลใกล้เคียงกับชาวใต้ทั่วไป   

ภาพ นายไข่ ศรีมะนัง (เฒ่าไข่) ผู้นำทัพมานิ โดยมีศักดิ์เป็นกำนันของทัพมานิ
แห่งบ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล 

จากการเสวนากับเฒ่าไข่ พบว่ากลุ่มมานิไม่มีการจดบันทึกเรื่องราวใด ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรเลย องค์ความรู้ที่มีจะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยการเล่าสู่กันฟังด้วยวาจาและลงมือปฏิบัติให้เห็น (หรือที่เรียกกันในไทยว่า “มุขปาฐะ”) มานิผู้ชายแรกรุ่นจะศึกษาการหาอาหาร การเลือกสถานที่เพื่อตั้งทัพจากมานิรุ่นใหญ่ การเข้าถึงองค์ความรู้ทุกอย่างของกลุ่มมานินั้นต้องอาศัยการนั่งฟังเฒ่าไข่เล่าสู่กันฟังเพียงเท่านั้น โดยแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ อย่างแรกคือมานิรู้จักวัตถุท้องฟ้าหลัก ๆ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และมีชื่อเรียกที่เป็นภาษามานิ ดังนี้

  1. ดาว ในภาษามานิ เรียกว่า “เก็จ” ในที่นี่มานิ  หมายถึงดาวทุกดวงบนท้องฟ้าไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นดาวเคราะห์หรือดาวฤกษ์แต่หมายถึงจุดแสงขนาดเล็กทุกจุดบนท้องฟ้า ที่ปรากฏให้เห็นในเวลากลางคืน (ตรงกับคำว่า “ดาว” ในภาษาไทย หรือคำความหมายเดียวกันในภาษามลายูว่า “บินตัง”)
  2. ดวงอาทิตย์ ในภาษามานิ เรียกว่า “มากาเต๊าะ” มานิจะดูดวงอาทิตย์เพื่อระบุทิศตะวันออก ตะวันตกและรู้ว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตรงตำแหน่งเดิมทุกวัน แต่จะขยับไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นก็ตรงกับองค์ความรู้ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกันและจะเปลี่ยนตำแหน่งไปวันละประมาณ 1 องศา มานิสามารถบอกทิศทางได้จากการดูดวงอาทิตย์ โดยทิศตะวันออกเรียกว่า “ไบแฮ็ก”, ทิศตะวันตกเรียกว่า “บัลลิ”, ส่วนทิศที่เหลือเฒ่าไข่บอกว่ามานิทุกคนจะทราบอยู่แล้วว่าทิศเหนือ (ปร้าบน หรือข้างบน) อยู่ทางนี้พร้อมชี้นิ้วไปทางขวาให้ดูซึ่งขณะนั้นผู้เขียนและเฒ่าไข่นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและบอกว่าทิศใต้ (ปร้าล่าง หมายถึงข้างล่าง) ก็อยู่ตรงข้ามกัน หรือในบางครั้งจะดูทิศเหนือ- ใต้ จากทิศทางการไหลของน้ำเฒ่าไข่กล่าว โดยมานิจะเรียก ทิศเหนือหรือทิศข้างบนเรียกว่า “กะพิน” และทิศใต้หรือทิศข้างล่างว่า “กะยอม” ดังภาพ

Screen

ภาพแสดงชื่อเรียกของทิศในภาษามานิ เทียบกับชื่อเรียกภาษาไทย

 

  1. ดวงจันทร์  ในภาษามานิ เรียกว่า “กาเจ๊ะ” เบื้องต้นสันนิษฐานว่า มานิมีการสังเกตเฟสของดวงจันทร์ (ข้างขึ้น-ข้างแรม) อยู่ทุกวันและรู้ว่าดวงจันทร์จะอยู่ตรงไหน วันไหนจะเห็นดวงจันทร์หรือไม่เห็นดวงจันทร์ แต่ไม่น่าจะมีการคำนวณหรือนับวันข้างขึ้น- ข้างแรมได้ล่วงหน้า โดยในขณะที่สนทนากันนั้นตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 2 ค่ำ เฒ่าไข่บอกว่าวันนี้ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ และจะเห็นดวงจันทร์ได้ต้องรอให้ดวงอาทิตย์ตกไปซักครู่หนึ่งถือเป็นการสังเกตการณ์วันต่อวันหากมีการจดบันทึกข้อมูลการขึ้นตกของดวงจันทร์เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ปฏิทินดวงจันทร์ของชาวมานิ คงมีความแม่นยำไม่แพ้ปฏิทินจันทรคติของชาวมุสลิมอย่างแน่นอน นอกจากนี้ชาวมานิยังดูเฟสของดวงจันทร์ว่าประกอบการออกล่าสัตว์อีกด้วย หากวันไหนดวงจันทร์เต็มดวงชาวมานิจะไม่ออกล่าสัตว์ เพราะแสงสว่างจะมากเกิน สัตว์ป่าพวกหมูดิน  ตัวนิ่ม ปลาในแหล่งน้ำ หรือสัตว์ป่าที่ออกหากินกลางคืนจะไม่ออกมาหาอาหาร นั่นหมายความว่าพวกเขาจะไม่สามารถล่าสัตว์มาแจกจ่ายในทัพของเขาได้ การดูดวงจันทร์ประกอบการออกล่าสัตว์ของชาวมานิจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ และความรู้เรื่องนี้จึงถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาช้านานแล้ว
  2. “ดาวเทียม” ชื่อเรียกของดาวดวงหนึ่งที่เฒ่าไข่เล่าว่ามันใช้นำทางได้ ดาวดวงนี้เป็นดาวสว่างรองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เคลื่อนที่ขึ้นจากทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก สามารถบอกทิศได้ นักล่า นักเดินทางในกลุ่มมานิทุกคน หากเห็นดาวดวงนี้จะสามารถเดินทางได้ง่ายดาย โดยไม่หลงป่า หากวิเคราะห์ชื่อเรียก “ดาวเทียม” ที่เฒ่าไข่ใช้เรียกนี้สันนิษฐานว่านี่น่าจะเป็นความเข้าใจผิดในภาษาไทยของเฒ่าไข่เอง ผู้เขียนและทุกคนในทีมพยายามถามชื่อเรียกในภาษามานิ แต่ยังไม่ได้คำตอบในเรื่องชื่อของดาวดวงนี้ ซึ่งหากพิจารณาตามที่เฒ่าไข่เล่าว่าดาวดวงนี้มีความสว่างรองจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นผู้เขียนสันนิษฐานว่าดาวดังกล่าวน่าจะหมายถึงดาวศุกร์​ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีแมกนิจูดเท่ากับ - 4 และดาวศุกร์ก็เป็นดาวที่มีความสว่างรองจากดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จริง ๆ อย่างไรก็ตามเฒ่าไข่ ยินดีที่จะให้ความรู้ดาราศาสตร์ โดยอยากที่จะสอนดูดาวให้ในวันที่ทัศนวิสัยท้องฟ้าดี 

เพื่อไขความลับว่าดาวเทียมที่เฒ่าไข่กล่าวถึงนี้มันคือดาวอะไรกันแน่

เนื้อหาด้านดาราศาสตร์ที่ได้จากกลุ่มมานิข้างต้นนั้นน่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดมา เนื่องจากสภาพท้องฟ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน นั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการดูดาว จึงไม่สามารถดูดาวในเวลากลางคืนกับชาวมานิได้ และอาจจะมีองค์ความรู้ดาราศาสตร์อีกหลายอย่างซ่อนอยู่อีกมากมาย รวมถึงความเข้าใจผิดด้านดาราศาสตร์ของชาวมานิ จากเทือกเขาบรรทัดแห่งนี้ก็ได้ ผู้เขียนจะทำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์เทียบเคียงข้อมูลดังกล่าวกับข้อมูลดาราศาสตร์ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน 

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณ นายไข่ ศรีมะนัง ที่ยินดีต้อนรับ “ฮามิ” (เป็นคำที่มานิใช้เรียกคนเมือง) และให้ข้อมูลอย่างเป็นกันเองมาก ๆ ขอขอบคุณ ดร.บรรจง ทองสร้าง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่คอยติดต่อประสานงานและพาเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ไปร่วมกันบันทึกข้อมูลความสัมพันธ์ของมานิกับดาราศาสตร์ รวมถึงการวางแผนแนวทางการเก็บข้อมูลดาราศาสตร์ในกลุ่มมานิในภายภาคหน้า

เรียบเรียงโดย

นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
นายอนุชา เตยแก้ว เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์