หลายคนอาจคุ้นหูคุ้นตากับ NARIT ในฐานะองค์กรที่จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ สิบปีที่ผ่านมาเรามุ่งสร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์สู่ประชาชนในวงกว้าง จนได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ แต่นั่นเป็นเพียง 1 ใน 3 ของภารกิจหลักของเรา อีกหนึ่งภารกิจที่ซุ่มทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง เพื่อสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัยดาราศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ เป็นแหล่งบ่มเพาะวิศวกร ช่างเทคนิคหลากหลายสาขาวิชา มีเป้าหมายเพื่อยกระดับงานวิจัยและวิศวกรรม ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิศวกรรรมขั้นสูง ความรู้และความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะงานดาราศาสตร์เท่านั้น แต่ยังจะสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ในสาขาวิชาอื่นๆ และภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต
ปัจจุบัน NARIT พัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง ผ่านห้องปฏิบัติการ 5 ห้อง ดังนี้
> ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ - พัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ ด้านเทคโนโลยีเชิงทัศนศาสตร์ สำหรับใช้งานด้านดาราศาสตร์ อวกาศ และการป้องกันประเทศ รวมถึงวิจัยนวัตกรรมเพื่อกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ อาทิ ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ชนิดใหม่สำหรับกล้องโทรทรรศน์ ระบบประมวลผลภาพแบบความละเอียดและไดนามิกส์สูง และสเปกโตรกราฟ เป็นต้น
> ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุและสัญญาณดิจิทัล - พัฒนา และออกแบบงานด้านเทคโนโลยีคลื่นวิทยุ การสื่อสาร และการประมวลสัญญาณดิจิทัล เช่น ระบบรับและประมวลผลสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุย่านต่างๆ เรดาร์และเฟสอะเรย์ วงจรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้งานย่านความถี่ไมโครเวฟ และมิลลิมิเตอร์เวฟ วงจรแปลงสัญญาณอนาล็อกไปเป็นดิจิทัลความเร็วสูง วงจรขยายสัญญานคลื่นความถี่วิทยุภายใต้ระบบความเย็นยิ่งยวดระบบทางกลสำหรับการขับเคลื่อนกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เป็นต้น
> ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ - พัฒนา และออกแบบเครื่องมือทางกล และระบบควบคุมอัตโนมัติ อาทิ ระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์ระยะไกล ระบบการติดตามดาวเทียม ฯลฯ พัฒนาเทคโนโลยีเมคาทรอนิกส์ที่สามารถต่อยอดสู่งานสาขาอื่นๆ ได้ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอัตโนมัติ การแพทย์ การสื่อสาร เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ ฯลฯ
> ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง - พัฒนา และออกแบบการขึ้นรูปชิ้นงานทางกลที่ต้องการความละเอียดสูง ผลิตชิ้นส่วนเครื่องกลและงานเครื่องกลขั้นพื้นฐาน และพัฒนาเทคโนโลยีการแต่งผิวชิ้นงาน เพื่อให้บริการ สนับสนุนงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ และด้านอื่นๆ
> ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงและวิทยาศาสตร์ข้อมูล - ให้บริการระบบประมวลผลความเร็วสูง การจัดการและเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ให้คำปรึกษาแก่นักวิจัย อาจารย์และนักศึกษา และเชื่อมโยงกับ National e-Science ของไทยและต่างประเทศ
ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นแนวหน้า (Frontier Science) ที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนที่สุด ถือเป็นโจทย์ยากที่ท้าทายความสามารถของกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ดังนั้น หน่วยงานที่ทำงานด้าน Frontier Science จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะ พัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของกำลังคนในทุกสาขาได้เป็นอย่างดี