ปัจจุบัน เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ การแพทย์ และวิศวกรรม ได้รับการพัฒนาให้ทำงานได้แม่นยำในระดับสูงมาก ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่สนับสนุนให้เครื่องมือเหล่านั้นมีความแม่นยำสูงคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของการออกแบบและขึ้นรูปชิ้นงานที่ละเอียดสูงในระดับไมครอน เป็นเทคโนโลยีสำคัญช่วยพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การผลิตทางอุตสาหกรรม รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ของประเทศ
เป้าหมายสำคัญของ NARIT ด้านการวิจัย คือ สร้างผลงานวิจัยดาราศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ศักยภาพของนักวิจัย และการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่มีขีดความสามารถสูง NARIT จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องมือทางดาราศาสตร์ด้วยตัวเอง ยกระดับงานวิจัยและวิศวกรรม จากการเป็นผู้ซื้อและพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ มาเป็นผู้ออกแบบและสร้างอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ระดับสูงเพื่อตอบโจทย์ และผลักดันให้งานวิจัยของ NARIT ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างนวัตกรรม สนับสนุนงานวิจัย อาทิ อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่ซับซ้อนและแม่นยำสูง นอกจากนี้ยังสามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เกี่ยวกับการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปสู่ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรม ยกระดับประเทศไทยเป็นประเทศผู้ออกแบบและผลิตสินค้าทางด้านเทคโนโลยีออกสู่ตลาดโลก
ขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง
> สามารถขึ้นรูปชิ้นงาน ที่มีความคลาดเคลื่อนประมาณ 20-25 ไมครอน (ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะสามารถลดความคลาดเคลื่อนได้ถึง 10-15 ไมครอน)
> สามารถออกแบบและวิเคราะห์ความแข็งแรงทางวิศวกรรมของชิ้นงาน เพื่อช่วยในการประเมินคุณภาพของชิ้นงาน ช่วยปรับปรุงคุณภาพชิ้นงาน ก่อนการผลิตจริง
> มีเครื่อง Coordinate Measuring Machine: CMM สำหรับใช้วัดชิ้นงานและตรวจสอบคุณภาพของชิ้นงาน
> สามารถทำการ finishing ชิ้นงานได้หลายเทคนิค เช่น aluminum anodizing, power coating เป็นต้น
ในอนาคต ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง จะพัฒนาไปสู่การผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น ชิ้นส่วนของดาวเทียม อุปกรณ์ payload ฯลฯ ที่จำเป็นต้องใช้ชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงสุด สามารถรองรับปฏิบัติงานในอวกาศ มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อมในอวกาศ เนื่องจากชิ้นส่วนที่ใช้ในเทคโนโลยีอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่ต้องการความละเอียดสูง ที่ไม่สามารถให้เกิดความผิดพลาดได้