Ep. 12 บุกชมหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ เชียงใหม่ เตรียมความพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ เตรียมเปิดใช้งานปลายปีนี้ 

12 00

วันนี้ NARIT จะพาทุกท่านมาอัพเดทความคืบหน้าของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ  ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ  ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ (ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 40 กม.)

หากติดตามกันมา...จะเคยเห็นแต่เพียงภาพโครงสร้างภายนอกของหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งนี้  ที่มีจานรับสัญญาณขนาดใหญ่มาก ๆ ตั้งตระหง่านอยู่บนอาคารฐานรากที่สูงประมาณตึก 3 ชั้น  ฐานรากรวมกับตัวจานรับสัญญาณก็ประมาณตึก 5 ชั้นเลยทีเดียว
EP นี้...จะพาไปชมภายในอาคารกันบ้าง ว่าแต่ละชั้นประกอบด้วยส่วนปฏิบัติการสำคัญอะไรบ้าง โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุและสัญญาณดิจิทัล ที่จะทำให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติแห่งนี้ทำงานตามภารกิจการสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุได้อย่างสมบูรณ์ 

 

ภายในหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ  ประกอบด้วย 5 ชั้น ในแต่ละชั้นติดตั้งระบบอุปกรณ์และเครื่องมือที่สำคัญ ดังนี้ครับ

 

12 01

#ชั้นที่ 1 ห้องประมวลผลสัญญาณ (Backend and Data Center)

เป็นห้องที่ออกแบบพิเศษให้ป้องกันคลื่นรบกวนจากภายนอก ภายในติดตั้งคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เก็บสัญญาณคลื่นวิทยุที่ได้รับจากการสังเกตการณ์ มาประมวลผลให้เป็นสัญญาณดิจิทัล เพื่อให้นักวิจัยนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ศึกษาต่อไป 

 

12 02

#ชั้นที่ 2 ห้องควบคุม (Control Room) 

ห้องควบคุมกล้องโทรทรรศน์วิทยุผ่านคำสั่ง (Script) บนชุดคอมพิวเตอร์ เพื่อสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุสำหรับงานวิจัยต่างๆ ระยะแรกจะมีเจ้าหน้าที่ประจำการเพื่อควบคุมกล้องฯ และจะพัฒนาให้สามารถควบคุมจากระยะไกลได้

 

12 03

#ชั้นที่ 3 ชั้นเครื่องขับเคลื่อน (Servo Motors) 

ติดตั้งเครื่องขับเคลื่อนกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกล้องฯ ให้หมุนและชี้ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ด้านหน้าเครื่องมีระบบปรับอากาศของตัวมอเตอร์ ออกแบบพิเศษสำหรับสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย

 

12 04

#ชั้นที่ 4 ห้องรับสัญญาณ (Receiver Room)

ติดตั้งระบบรับสัญญาณคลื่นวิทยุ (Receiver) ย่าน K เเละ Ku รับสัญญาณคลื่นวิทยุจากวัตถุท้องฟ้า อาทิ พัลซาร์ หลุมดำ เนบิวลา และดาวเทียม ออกแบบให้มีผิวสะท้อนสัญญาณที่รองรับการติดตั้งระบบรับสัญญาณเพิ่มได้อีกด้วย 

 

12 05

#ชั้นที่ 5 จานรับสัญญาณ (Main Reflector)

จานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ออกแบบมาให้เป็นผิวโค้งพาราโบลอยด์ที่คลาดเคลื่อนไม่เกิน 0.2 มิลลิเมตร ทำให้สามารถรับสัญญาณได้ครอบคลุมตั้งแต่ 0.3 ถึง 115 กิกะเฮิร์ตซ์ และมีระบบรับสัญญาณคลื่นวิทยุย่าน L ติดตั้งที่จุดโฟกัสของจาน

 

หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ ดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี มีแผนดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2560-2563 ติดตั้งจานรับสัญญาณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าจะติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณและเริ่มใช้งานประมาณปลายปี 2564