NARIT ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 2.4 เมตร ของหอดูดาวแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์การระเบิดอย่างรวดเร็วในย่านความยาวคลื่นวิทยุ (Fast Radio Burst : FRB) พร้อมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก
“FRB” หรือ “Fast Radio Burst” คือ คลื่นวิทยุที่สว่างวาบในช่วงเวลาสั้น ๆ ระดับมิลลิวินาทีแล้วจางหายไป เกิดขึ้นในอวกาศนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใดและเกิดขึ้นบริเวณไหนบนท้องฟ้า ยากต่อการระบุตำแหน่ง จึงเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ลึกลับที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเกิดจากกระบวนการหรือวัตถุประเภทใด เบื้องต้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากวัตถุในอวกาศชนกัน
Fast Radio Burst ค้นพบครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2550โดยกล้องโทรทรรศน์ Parkes ประเทศออสเตรเลีย จากการตรวจพบการปะทุของคลื่นวิทยุความเข้มสูงในระยะเวลาเพียงไม่กี่มิลลิวินาที ในระหว่างการสำรวจหาพัลซาร์
การค้นพบนี้นำมาซึ่งคำถามมากมาย เราทราบเพียงว่าสัญญาณนี้มีต้นกำเนิดจากนอกกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่ยังไม่มีการค้นพบสัญญาณในช่วงความยาวคลื่นอื่น นอกจากความยาวคลื่นวิทยุ
ตามรายงานถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 สัญญาณดังกล่าวถูกค้นพบเพียง 99 ครั้งและมีเพียง 11 ครั้งที่เป็นสัญญาณซ้ำ ในจำนวนนี้ NARIT มีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์โดยใช้กล้องโทรทรรศน์แห่งชาติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ติดตามสังเกตการณ์จำนวน 5 ครั้ง
แม้ว่าการระเบิดอย่างรวดเร็วในย่านความยาวคลื่นวิทยุ จะมีความคล้ายคลึงกับพัลซาร์ ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนที่มีสนามแม่เหล็กสูง และหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว เช่น ลักษณะของสัญญาณที่แคบและคมชัด การตรวจพบสัญญาณในย่านความยาวคลื่นวิทยุแต่ความเชื่อมโยงยังไม่ชัดเจน ฯลฯ ดังนั้น การค้นหาและศึกษาวัตถุทั้งสองด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุประสิทธิภาพสูงทั่วโลก จะนำไปสู่ความเข้าใจและช่วยไขปริศนาระดับโลกนี้ต่อไป
NARIT กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ซึ่งในอนาคตสามารถร่วมค้นหาและติดตามสัญญาณ FRB ในย่านความถี่วิทยุเพิ่มเติมอีกด้วย
เรียบเรียง : ดร. ศิรประภา สรรพอาษา นักวิจัยด้านจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์พลังงานสูง สดร.