หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงาน
โดยที่เป็นการสมควรปรับแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้มีความเหมาะสม ชัดเจนยิ่งขึ้น สถาบันจึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานไว้ดังต่อไปนี้
- นิยาม
“สถาบัน” หมายความว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
“ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
“ส่วนงาน” หมายความว่า หน่วยงานภายในสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
“หัวหน้าส่วนงาน” หมายความถึง หัวหน้างาน หัวหน้าหน่วย ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ผู้อำนวยการศูนย์ ผู้อำนวยการหอดูดาว หรือหัวหน้าส่วนงานที่เรียกชื่ออื่น
“ผู้ปฏิบัติงาน” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานตามมาตรา 30 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551
“ผู้ประเมิน” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หรือผู้บังคับบัญชาโดยตรงของผู้รับการประเมิน
“ผู้รับการประเมิน” หมายความว่า ผู้ปฏิบัติงานในสังกัดส่วนงานของสถาบัน
“การประเมินผลการปฏิบัติงาน” หมายความว่า การประเมินค่าของผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในสถาบัน โดยพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดหรือหลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานร่วมกันระหว่างผู้ประเมินและผู้รับการประเมินเทียบกับมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ และพิจารณาพฤติกรรมในการปฏิบัติงานตามสมรรถนะที่กำหนด
“แบบประเมินผลการปฏิบัติงาน” หมายความว่า แบบประเมินผลการปฏิบัติงานซึ่งประกอบด้วยข้อตกลงการปฏิบัติงาน และสมรรถนะที่คาดหวังในแต่ละครั้งการประเมิน
หมวด 1
บททั่วไป
- ให้ใช้หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานของสถาบันทุกตำแหน่ง ยกเว้นตำแหน่งผู้อำนวยการ และตำแหน่งอื่นที่คณะกรรมการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
- หัวหน้าส่วนงาน อาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานในส่วนงานเพิ่มเติม เพื่อสร้างเสริมประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับลักษณะและภาระงานของส่วนงานเป็นการเฉพาะจากที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์นี้ได้ โดยให้ส่วนงานประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานให้ผู้ปฏิบัติงานของส่วนงานนั้น ๆ รับทราบล่วงหน้าก่อนถึงรอบปีการประเมิน
- ให้สถาบันกำหนดแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานของสถาบัน แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้
(1) ตำแหน่งประเภทปฏิบัติการ
(2) ตำแหน่งประเภทพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม
(3) ตำแหน่งประเภทวิชาการ
(4) ตำแหน่งประเภทวิจัย
(5) ตำแหน่งประเภทบริหาร
ทั้งนี้ให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานแต่ละประเภทตามวรรคแรก โดยให้นำข้อตกลงการปฏิบัติงาน เช่น ภาระงาน และหรือกิจกรรม โครงการ ที่ได้ตกลงร่วมกันมาระบุไว้ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของแต่ละประเภทแล้วแต่กรณี
หมวดที่ 2
การดำเนินการ
- ให้หน่วยงานส่วนงานกำกับดูแลให้ผู้ปฏิบัติงานในสังกัดจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานปีละครั้งตามหลักเกณฑ์นี้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมสของรอบปีการประเมินนั้น และดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานสองครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ 1 ประเมินผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคมของปีงบประมาณเดียวกัน โดยให้นำผลการประเมินไปใช้ในการติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามข้อตกลงการปฏิบัติงาน และหรือนำไปปรับปรุงข้อตกลงการปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในการประเมินผลการปฏิบัติงานครั้งที่ 2 ก็ได้
ครั้งที่ 2 ประเมินผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีงบประมาณเดียวกัน
ทั้งนี้ให้นำผลการประเมินครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มาประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อตกลงการปฏิบิตงานตามข้อตกลงการปฏิบัติงานในแต่ละครั้งการประเมิน และพิจารณาจัดกลุ่มคะแนนตามข้อ 13 เพื่อนำไปใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลตามข้อ 16
- ให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ร่วมกับหัวหน้าส่วนงาน เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานในสังกัด หรือหัวหน้าส่วนงานอาจแต่งตั้งบุคคลตั้งแต่ 3 คน ตามที่ผู้ประเมินเสนอเป็นคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย
(1) ผู้ประเมิน เป็นประธาน
(2) ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยผู้ประเมิน เป็นกรรมการ
(3) ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากผู้รับการประเมิน เป็นกรรมการ
การได้มาซึ่งกรรมการตาม (3) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละส่วนงาน โดยผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ทราบข้อมูลการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมิน
ทั้งนี้ให้ส่วนงานแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานให้ผู้เกี่ยวข้องทราบก่อนการประเมินผลการปฏิบัติงาน
หมวด 3
องค์ประกอบและสัดส่วนการประเมินผลการปฏิบัติงาน
- การประเมินผลการปฏิบัติงานให้ประเมินจาก 2 องค์ประกอบ ดังนี้
(1) การประเมินผลงาน เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์หรือผลสำเร็จของการปฏิบัติงานตามข้อตกลงการปฎิบัติงานและรายการที่กำหนดไว้ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน
(2) การประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงาน เป็นการประเมินพฤติกรรมที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์หรือผลสำเร็จของการปฏิบัติงาน
- ให้กำหนดสัดส่วนองค์ประกอบการประเมินผลงานและการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงาน ไว้ดังนี้
ตำแหน่งประเภท |
ผลงาน |
: |
พฤติกรรม |
(1) ตำแหน่งประเภทปฏิบัติการ |
80 |
: |
20 |
(2) ตำแหน่งประเภทพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรม |
80 |
: |
20 |
(3) ตำแหน่งประเภทวิชาการ |
80 |
: |
20 |
(4) ตำแหน่งประเภทวิจัย |
80 |
: |
20 |
(5) ตำแหน่งประเภทบริหาร |
60 |
: |
40 |
หัวหน้าส่วนงานโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการอาจกำหนดสัดส่วนองค์ประกอบการประเมินผลงานและการประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานแตกต่างไปจากวรรคแรกได้ตามความเหมาะสมกับภารกิจของส่วนงาน ตำแหน่ง และระดับตำแหน่ง ทั้งนี้ให้จัดทำเป็นประกาศของส่วนงานแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบด้วย
หมวด 4
การจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงาน
- ให้ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินกำหนดข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกันเกี่ยวกับการมอบหมายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยกำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบตามคำบรรยายลักษณะงาน ตำแหน่งงาน และความรู้ ความสามารถ โดยข้อตกลงดังกล่าวควรให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบัน และหรือของส่วนงานด้วย ทั้งนี้ให้ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินร่วมกันกำหนดตัวชี้วัดหรือหลักฐานบ่งชี้ความสำเร็จของงานเทียบกับมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ และจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม โดยมีแนวทางในการทำข้อตกลง ดังนี้
(1) ภารกิจที่สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของสถาบัน และแผนกลยุทธ์ของส่วนงาน
(2) ภารกิจหลักของตำแหน่งงาน ตามหน้าที่ความรับผิดชอบตามคำบรรยายลักษณะงาน
(3) ภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากภารกิจหลักของตำแหน่งงาน
(4) ภารกิจเพื่อส่วนรวมของสถาบัน
เมื่อผู้ประเมินและผู้รับการประเมินจัดทำข้อตกลงในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานเรียบร้อยแล้วให้ผู้ประเมินและผู้รับการประเมินลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
กรณีที่ผู้ประเมินกับผู้รับการประเมินไม่สามารถจัดทำข้อตกลงร่วมกันได้ ให้ผู้บังคับบัญชาที่เหนือขึ้นไปเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดและให้ถือเป็นที่สุด
- ผู้ปฏิบัติงานผู้ใดที่จัดทำข้อตกลงการปฏิบัติงานตามคำวินิฉัยชี้ขาดตามข้อ 9 วรรคท้าย จะไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน และถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย กฏ ข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งของสถาบัน
หมวด 5
การประเมินผลการปฏิบัติงานและการติดตาม
- การประเมินผลงาน ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาผลสัมฤทธิ์ของงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและหรือจากข้อมูล และหรือสถิติที่เก็บได้ตามภาระงานเทียบกับมาตรฐาน หรือเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้กับตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่ได้ตกลงกันไว้ตามแบบประเมินผลการปฏิบัติงานในข้อ 9
- การประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงาน ให้ผู้บังคับบัญชาประเมินหรือใช้วิธีการมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) ร่วมประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมิน โดยอาจใช้รูปแบบการประเมินแบบ 360 องศา หรือใช้รูปแบบอื่นตามความเหมาะสมของแต่ละส่วนงานก็ได้
- ให้กำหนดระดับคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติงาน เป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับดีเด่น หมายถึง ช่วงคะแนนระหว่าง 90.0 – 100 คะแนน
ระดับดีมาก หมายถึง ช่วงคะแนนระหว่าง 80.0 – 89.9 คะแนน
ระดับดี หมายถึง ช่วงคะแนนระหว่าง 70.0 – 79.9 คะแนน
ระดับพอใช้ หมายถึง ช่วงคะแนนระหว่าง 60.0 – 69.9 คะแนน
ระดับต้องปรับปรุง หมายถึง คะแนนต่ำกว่า 60 คะแนน
ให้งานบริหารทรัพยากรบุคคลนำผลการประเมินการปฏิบัติงานมาจัดกลุ่มคะแนนตามวรรคหนึ่ง เพื่อ
นำผลไปใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลตามข้อ 16 ทั้งนี้หากผู้รับการประเมินคะแนนต่ำกว่า 60 คะแนน จะไม่ได้รับการพิจาณณาเลื่อนเงินเดือน
- เมื่อผู้ประเมินทุกระดับชั้นได้ดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมินเสร็จแล้วให้ลงลายมือชื่อไว้ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับการประเมินทุกคน และให้ผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินให้ผู้รับการประเมินทราบพร้อมให้ลงลายมือชื่อรับทราบผลการประเมินเป็นรายบุคคลให้แล้วเสร็จภายหลักจากการประเมินแต่ละครั้ง
กรณีที่ผู้รับการประเมินไม่ยินยอมลงลายมือชื่อตามวรรคหนึ่ง ให้หาพยานบุคคลลงลายมือชื่อ และหรือวิธีอื่น ๆ เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการแจ้งผลการประเมินแล้ว
กรณีผู้ประเมินแจ้งผลการประเมินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน ให้ถือว่าการแจ้งในระบบดังกล่าวเป็นหลักฐานในการแจ้งและการรับทราบผลการประเมินแล้ว
- ให้ผู้อำนวยการหรือผู้ได้รับมอบหมายดำเนินการกลั่นกรองผลการประเมินการปฏิบัติงานตามที่หัวหน้าส่วนงานเสนอ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นธรรมของการประเมินผลการปฏิบัติงานและให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานของส่วนงานในภายรวมต่อผู้อำนวยการตามแบบที่สถาบันกำหนด
หมวด 6
การนำผลการประเมินการปฏิบัติงานไปใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล
- ผลการประเมินการปฏิบัติงาน ให้นำไปใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคล ดังนี้
(1) นำไปพัฒนา และปรับปรุงการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(2) นำไปใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ การเลื่อนเงินเดือน การให้รางวัลประจำปี การให้ค่าตอบแทนอื่น ๆ ในการให้รางวัลจูงใจ การต่อสัญญาจ้าง การเปลี่ยนประเภทการจ้าง ประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับความก้าวหน้าในสายอาชีพ การเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง และการบริหารงานบุคคลในเรื่องอื่น ๆ
- ในกรณีที่ผู้รับการประเมินผู้ใดเห็นว่าการประเมินไม่เป็นธรรม หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินของตนเองที่ต้องการชี้แจงเพิ่มเติม ให้ผู้รับการประเมินยื่นหนังสือแจ้งคัดค้านผลการประเมิน หรือชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อหัวหน้าส่วนงานภายใน 15 วันทำการนับถัดจากวันที่รับทราบผลการประเมิน หากไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าผู้รับการประเมินยอมรับในผลการประเมินนั้นแล้ว
เมื่อหัวหน้าส่วนงานได้รับเรื่องคัดค้านหรือข้อมูลชี้แจ้งเพิ่มเติมแล้วให้ทบทวนผลการประเมินให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้รับการประเมินทราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วันทำการนับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือคัดค้านหรือข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติม
- การจัดเก็บผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อนำไปใช้ประกอบการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่อง
ต่าง ๆ และให้ถือว่าคะแนนผลการประเมินการปฏิบัติงานเป็นความลับ
ทั้งนี้ ให้จัดเก็บผลการประเมินไว้เป็นระยะเวลา 5 ปี ยกเว้นกรณีที่มีคดีความอาจเก็บไว้มากกว่า 5 ปีก็ได้
- ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้ ให้ผู้อำนวยการมีอำนาจสั่งการให้ปฏิบัติตามที่เห็นสมควร และให้ถือเป็นที่สุด