นาซาล้ำหน้าไปอีกขั้น มอบทุนวิจัยโครงการนวัตกรรมอวกาศ การออกแบบติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดหน้ากล้อง 1 กิโลเมตรไว้ในหลุมอุกกาบาตบริเวณด้านไกลบนดวงจันทร์
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ คือ อุปกรณ์รับคลื่นวิทยุจากอวกาศ ส่วนมากมีลักษณะเป็นจานรับสัญญาณทำหน้าที่รวมคลื่นวิทยุจากวัตถุท้องฟ้าที่เล็งไว้ เช่น ดาวฤกษ์ กาแล็กซี เควซาร์ พัลซาร์ ช่วยศึกษาพฤติกรรมของวัตถุท้องฟ้าและวิวัฒนาการของเอกภพในยุคแรกเริ่มจากอีกมุมมองที่กล้องโทรรศน์ทั่วไปไม่สามารถสังเกตการณ์ได้
ล่าสุด นาซามอบทุนวิจัยให้กับโครงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุในหลุมดวงจันทร์ (The Lunar Crater Radio Telescope: LCRT) ซึ่งจะมีข้อได้เปรียบคือสามารถสร้างจานรับสัญญาณที่มีขนาดใหญ่ได้ถึง 1 กิโลเมตร มากกว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST ขนาด 500 เมตร ของประเทศจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเนื่องจากดวงจันทร์แทบจะไม่มีชั้นบรรยากาศ จึงสามารถรับคลื่นวิทยุจากอวกาศในช่วงความถี่ต่ำ 6 - 30 เมกกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นช่วงความถี่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษาในทางดาราศาสตร์มาก่อน
ภาพแผนการติดตั้งจานรับสัญญาณกล้องโทรทรรวิทยุขนาด 1 เมตร บนดวงจันทร์
ในการสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์ สิ่งที่ซับซ้อนที่สุดคงหนีไม่พ้นการติดตั้งจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ ที่นาซาวางแผนให้หุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ติดตั้งได้เองอัตโนมัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการขึงตาข่ายที่จะทำหน้าที่เป็นจานรับสัญญาณขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 กิโลเมตรภายในหลุมดวงจันทร์ และยึดตาข่ายเข้ากับขอบหลุมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-5 กิโลเมตร ที่อยู่บริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ ด้วยเหตุนี้เอง อุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้สร้างกล้องจึงต้องมีน้ำหนักเบาที่สุดเพื่อให้คล่องตัวต่อการติดตั้งและลดภาระค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
อย่างไรก็ดี การสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพราะปัจจุบัน ประเทศจีนและเนเธอแลนด์ ได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเล็กบนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านไกลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ดาวเทียมโคจรอยู่รอบดวงจันทร์ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์กับห้องควบคุมบนพื้นโลก ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่จะนำมาใช้กับกล้อง LCRT
ในขณะนี้ แผนการสร้างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์ของนาซาเป็นงบวิจัยสำหรับพัฒนาโครงการที่ล้ำหน้าทางวิทยาการ ทีมงานมีเวลา 9 เดือนในการออกแบบ วางแผน และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว และถ้าแนวคิดนี้มีความเป็นไปได้จริง ในช่วงชีวิตของเราอาจจะได้เห็นกล้องโทรรศน์วิทยุนอกโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นเหมือนกุญแจอีกหนึ่งดอกของนักวิทยาศาสตร์ที่จะมาไขปริศนาของเอกภพในยุคเริ่มแรกก็เป็นได้
เรียบเรียง: นายเจษฎา กีรติภารัตน์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.