ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 30 ปีแสง ด้วยการตรวจหาคลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมาจากดาวเคราะห์ซึ่งเกิดจากกระบวนการคล้ายกับแสงออโรราบนโลก อาจกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่ใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ
ภาพจำลองแสดงสนามแม่เหล็กระหว่างดาวแคระแดงกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและออโรราที่เกิดขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่ต่ำ “LOFAR” ซึ่งเป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ จากข้อมูลพบว่าดาวเคราะห์มีมวลน้อยกว่าโลกประมาณ 5 เท่า โคจรรอบดาวแคระแดงชื่อ “GJ1151” มีคลื่นวิทยุปลดปล่อยออกมาจากดาวเคราะห์ เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างอนุภาคมีประจุจากดาวฤกษ์ปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่ทำให้เกิดแสงออโรราบนโลก
ภาพถ่ายเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุ LOFAR
การเกิดออโรรา
ออโรราเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ แต่อาจจะมีรูปแบบการเกิดที่แตกต่างกัน เช่น แสงเหนือ/แสงใต้บนโลก เกิดจากอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่ปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ ถูกสนามแม่เหล็กของโลกเบี่ยงเบนทิศทางเข้าสู่ขั้วแม่เหล็กโลกทั้งสองด้าน และปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศบริเวณนั้น เกิดเป็นม่านเรืองแสงบนท้องฟ้า สีสันต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับชนิดของแก๊ส ในขณะที่ออโรราบนดาวพฤหัสบดีเกิดจากอนุภาคมีประจุที่ปะทุจากดวงจันทร์ไอโอ พุ่งไปตามสนามแม่เหล็กที่รุนแรงของดาวพฤหัสบดี และปะทะเข้ากับแก๊สในชั้นบรรยากาศ
กรณีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้ โจเซฟ คอลลิงแฮม (Joseph Callingham) จากหอดูดาวเลย์เดิน (Leiden Observatory) ประเทศเนเธอร์แลนด์นักดาราศาสตร์ คาดว่าสนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์ดวงนี้เชื่อมต่อกับสนามแม่เหล็กของดาวฤกษ์แม่ ทำให้อนุภาคมีประจุปลดปล่อยออกมาจากดาวฤกษ์และพุ่งเข้าสู่ดาวเคราะห์ดวงนี้ได้อย่างง่ายดาย จึงเกิดแสงออโรราที่มีความสว่างและรุนแรงกว่าบนโลกมาก
ภาพในจินตนาการของ Rogue Planet ที่ลอยเคว้งในอวกาศ โดยมีแสงออโรราบริเวณขั้วดาว
ในปี พ.ศ. 2561 นักดาราศาสตร์เคยตรวจพบแสงออโรราในช่วงคลื่นวิทยุของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาก่อนแล้ว มีชื่อว่า “SIMP J01365663+0933473” เป็นดาวเคราะห์ที่ลอยเคว้งในอวกาศอย่างโดดเดี่ยว (Rogue Planet) นับเป็นการค้นพบแสงออโรราบนวัตถุคล้ายดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก ในขณะที่ผลการสำรวจล่าสุด เป็นแสงออโรราบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวแคระแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของดาวฤกษ์ที่พบได้มากที่สุดในเอกภพ ดังนั้นผลการสำรวจในครั้งนี้อาจเป็นประโยชน์ในการค้นหาและศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักดาราศาสตร์จะต้องทำต่อไป คือ ค้นหาหลักฐานอื่น ๆ เพื่อยืนยันว่ามีดาวเคราะห์โคจรรอบ GJ1151 อยู่จริง ๆ และพิสูจน์ให้ได้ว่าสัญญาณวิทยุที่ได้ตรงกับคาบการโคจรของดาวเคราะห์หรือไม่ ซึ่งหากพิสูจน์ได้สำเร็จ วิธีนี้จะกลายเป็นวิธีใหม่ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่โคจรรอบดาวเเคระแดง และเทคโนโลยีในอนาคตอาจจะพัฒนาจนสามารถตรวจจับคลื่นวิทยุได้โดยตรงจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะต่อไป
เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง :
https://astronomy.com/news/2018/08/free-range-planet
http://old.narit.or.th/index.php/astronomy-news/75-aurora