องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NASA) เผยโครงการที่ได้รับคัดเลือกสำหรับภารกิจศึกษาการระเบิดในอวกาศ รวมถึงศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ถูกแผ่รังสีจากดาวฤกษ์แม่

as20200501 2 01

 

การคัดเลือกของนาซาในครั้งนี้พิจารณาจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นไปได้และแผนการที่สามารถพัฒนาต่อได้ โดยโครงการที่ได้รับคัดเลือกได้แก่ Small Explorer (SMEX) จำนวน 2 โครงการ และ Missions of Opportunity (MO) อีก 2 โครงการ เพื่อจะส่งไปสำรวจและศึกษาเอกภพในปี พ.ศ. 2568 ภายใต้โครงการสำรวจ Explorers Program

เกณฑ์การคัดเลือกขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์และโอกาสในการพัฒนาเพื่อต่อยอด โดยภารกิจ SMEX ถูกกำหนดงบประมาณไว้ที่ 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภารกิจ MO ถูกกำหนดงบประมาณไว้ที่  75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่ละภารกิจของ SMEX จะได้รับงบประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการวางแผนและเตรียมความพร้อมของโครงการภายในระยะเวลา 9 เดือน ซึ่งภารกิจของ SMEX ที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่

 

1.ภารกิจศึกษาการปลดปล่อยรังสีอัลตราไวโอเลตพลังงานสูงจากดาวฤกษ์ (ESCAPE)

- ศึกษาดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เคียงในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต เพื่อค้นหาการปะทุของดาวฤกษ์ที่อาจส่งผลต่อชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต

- นำเสนอโดย Kevin France จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด

 

2.ภารกิจศึกษาและถ่ายภาพในช่วงรังสีแกมมา (COSI)

- ตรวจวัดรังสีแกมมาจากกาแล็กซีทางช้างเผือก เพื่อศึกษาธาตุกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นระหว่างการระเบิดของดาวฤกษ์ รวมถึงการศึกษากลไกการแผ่รังสีแกมมาพลังงานสูงจากกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกลมาก ๆ

- นำเสนอโดย John Tomsick จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

 

ส่วนแต่ละภารกิจของ MO จะได้รับงบประมาณ  5 แสนดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการศึกษาข้อมูลของภารกิจในระยะเวลา 9 เดือนซึ่งภารกิจของ MO ที่ได้รับคัดเลือกได้แก่

1.ภารกิจศึกษาแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วงในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต

- ภารกิจประกอบด้วยดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวง แต่ละดวงศึกษาช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตที่แตกต่างกัน เพื่อติดตามแหล่งกำเนิดคลื่นความโน้มถ่วงในอวกาศ ที่เกิดจากดาวนิวตรอนหรือหลุมดำชนกัน

- นำเสนอโดย Stephen (Brad) Cenko จากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ดของนาซา

 

2.อุปกรณ์ตรวจวัดโพลาไรเซชันของรังสีแกมมา (LEAP)

- เป็นอุปกรณ์ที่จะนำไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อศึกษาอนุภาคพลังงานสูงที่ปลดปล่อยจากดาวฤกษ์ยักษ์ที่ตายแล้ว หรือดาวนิวตรอนและหลุมดำชนกัน โดยการวัดโพลาไรเซชันของรังสีแกมมาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ “IXPE” ภารกิจศึกษาโพลาไรเซชันของรังสีเอกซ์ มีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2564

- นำเสนอโดย Mark McConnell จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์

 

โครงการทั้งหมดเป็นภารกิจสำรวจด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ภายใต้โปรแกรมการสำรวจที่ชื่อ Explorers Program  จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในปี พ.ศ. 2568 นักดาราศาสตร์หวังว่าภารกิจที่ได้รับคัดเลือกจะช่วยศึกษาดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ทั้งในและนอกระบบสุริยะ รวมถึงไขปริศนาของเอกภพ โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

https://www.nasa.gov/press-release/nasa-selects-proposals-to-study-volatile-stars-galaxies-cosmic-collisions

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4657