ข้อมูลจากยานแคสสินี (Cassini) ช่วยให้นักดาราศาสตร์ไขปริศนาความร้อนในชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์และดาวเคราะห์แก๊สดวงอื่น

as20200612 2 01

 

ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เป็นดาวเคราะห์ชั้นนอกในระบบสุริยะ มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นแก๊ส (ไม่มีพื้นผิว) ดาวเคราะห์แก๊สเหล่านี้มีอุณหภูมิที่บรรยากาศชั้นนอกใกล้เคียงกับโลกทั้ง ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลกหลายเท่า ซึ่งแหล่งกำเนิดความร้อนบนดาวเคราะห์แก๊สเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาเรื่อยมา

ล่าสุดการศึกษาภาพความร้อนของดาวเสาร์จากยานแคสสินีพบว่า “กระแสลม” จากการหมุนรอบตัวเอง ทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีอุณหภูมิสูง ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Astronomy เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563 นำทีมวิจัยโดย Tommi Koskinen

ดาวเสาร์เกิดแสงออโรราคล้ายกับที่เกิดขึ้นบนโลก กล่าวคือ อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจะเคลื่อนที่ตามเส้นสนามแม่เหล็กและพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศบริเวณที่เป็นขั้วแม่เหล็ก และเกิดแสงเรืองขึ้นบริเวณดังกล่าว ซึ่งอนุภาคที่มีประจุเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดจากดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ของดาวเสาร์

บริเวณชั้นบรรยากาศที่อนุภาคพุ่งเข้ามาปะทะ ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีความร้อนสูงกว่าบริเวณอื่น และกระแสลมที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์ จะนำพาให้ความร้อนกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศจนถึงบริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้ชั้นบรรยากาศร้อนขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึง 2 เท่า

 

as20200612 2 02

 

ข้อมูลที่นักวิจัยศึกษาในครั้งนี้ บันทึกในช่วงวาระสุดท้าย (Grand Finale) ของยานแคสสินี ก่อนจะจบภารกิจด้วยการพุ่งเข้าสู่ดาวเสาร์ไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2560 แต่ข้อมูลจากการสำรวจดาวเสาร์มากกว่า 13 ปี ของยานแคสสินี้ก็ยังช่วยไขปริศนาและอธิบายกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศและชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แก๊สดวงอื่นต่อไป

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

[1] https://www.nasa.gov/feature/jpl/data-from-nasas-cassini-may-explain-saturns-atmospheric-mystery

[2] https://solarsystem.nasa.gov/missions/cassini/mission/grand-finale/overview/

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2469