ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีหลายดินแดนที่พยายามส่งยานไปสำรวจดาวอังคาร ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐฯ ยุโรป อินเดีย จีน และญี่ปุ่น แต่ยังมีชาติเอเชียชาติอื่นที่จะส่งยานหุ่นยนต์ไปสำรวจดาวอังคารในอนาคตอันใกล้ นั่นคือ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ชาติอาหรับจากภูมิภาคตะวันออกกลาง
ยานโฮป (Hope) หรือในชื่อโครงการเต็ม Hope Mars Mission และชื่อยานในภาษาอาหรับว่า “อัลอะมัล” (الأمل แปลว่าความหวัง) เป็นยานประเภทโคจรรอบดาว (Orbiter) เพื่อสำรวจดาวอังคารของศูนย์อวกาศมุฮัมมัด บิน รอชิด (Mohammed bin Rashid Space Centre / MBRSC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประกอบและผลิตโดยห้องปฏิบัติการฟิสิกส์บรรยากาศและอวกาศ มหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ สหรัฐฯ และยานโฮปยังเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นอีก 2 แห่งในสหรัฐฯ
รูปที่ 1 ยานโฮปในช่วงระหว่างการประกอบยาน ในห้องปฏิบัติการที่สหรัฐฯ [Credit ภาพ: MBRSC]
เมื่อยานโฮปถูกประกอบเสร็จแล้ว จะขนส่งจากสหรัฐฯไปยังญี่ปุ่น เพื่อติดตั้งบนจรวด H-IIA (H-2A) ซึ่งจะมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 (ตามเวลาประเทศไทย) จากศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น จึงกล่าวได้ว่ายานโฮปเป็นยานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ผลิตและส่งขึ้นสู่อวกาศโดยต่างประเทศ ต่างจากยานเทียนเวิ่น 1 ของจีน ที่ผลิตในจีนและส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดของจีน
ยานโฮปมีภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้
- ศึกษาวัฏจักรของสภาพอากาศในรอบวันและฤดูกาลในรอบปีของดาวอังคาร
- ศึกษาสภาพอากาศในบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร (เช่น พายุฝุ่น)
- ศึกษาความแตกต่างทางสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่บนดาวอังคาร
- ศึกษากระบวนการสูญเสียแก๊สจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารสู่อวกาศ
จากภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของยานโฮป ตัวยานจึงมีอุปกรณ์ตรวจวัดบรรยากาศดาวอังคาร 3 ตัว ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงหลายย่านความยาวคลื่นที่ใช้ตรวจวัดฝุ่นและโอโซนในบรรยากาศ อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอินฟราเรด ใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร และอุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต ใช้ตรวจวัดระดับของไฮโดรเจนและออกซิเจน
รูปที่ 2 แผนภาพแสดงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งกับยานโฮป ทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ (EMUS EMIRS และ EXI) แผงเซลล์สุริยะ และจานรับส่งสัญญาณ
หากการปล่อยยานสู่อวกาศและการเดินทางสู่ดาวอังคารเป็นไปอย่างราบรื่น ยานจะใช้เวลาเดินทางไปยังดาวอังคารนาน 7 เดือน โดยมีกำหนดถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการครบรอบ 50 ปีที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเอกราช ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดหวังว่ายานโฮปจะสามารถปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดาวอังคารได้นาน 2 ปี
รูปที่ 3 แผนภาพสรุปการเดินทางสู่ดาวอังคารและการเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารตามแผนการของยานโฮป [Credit ภาพ: MBRSC]
โครงการยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยเชคเคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและเพิ่มความรู้ความเข้าใจถึงบรรยากาศของดาวอังคาร และเลือกชื่อ “โฮป” กับ “อัลอะมัล” ให้ยานสำรวจดาวอังคารลำนี้ เพื่อสื่อถึงการมองโลกในแง่ดีของชาวอาหรับรุ่นใหม่นับล้านคน
เรามาร่วมลุ้นกันว่าก้าวแรกและความหวังของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการสำรวจระบบสุริยะ จะสำเร็จ จนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะชาติอาหรับ สามารถร่วมเป็นหนึ่งในชาติเอเชียที่มีความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศ ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น จีนและรัสเซียหรือไม่
อ้างอิง :
[1] https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=EMM-HOPE
[2] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-52973849
เรียบเรียงโดย
พิสิฏฐ นิธิยานันท์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
ศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)