ภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีในช่วงคลื่นอินฟราเรด (ความยาวคลื่น 4.7μm) บันทึกเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 โดยกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ท (Gemini North telescope) ตั้งอยู่บนภูเขาไฟมัวนาเคีย รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ลัคกี้อิมเมจิง” (Lucky Imaging) ซึ่งเป็นวิธีการบันทึกภาพของดาวพฤหัสบดีในรูปแบบวิดีโอ แล้วใช้ซอฟต์แวร์เลือกเอาส่วนที่ดีที่สุดของแต่ละเฟรมของวิดีโอออกมารวมกันอีกทีเพื่อให้ได้ภาพคมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากโลกของเรามีบรรยากาศห่อหุ้มอยู่และมีมวลอากาศไหลเวียนไปมา ส่งผลให้แสงจากดาวเคราะห์ที่เดินทางผ่านเข้ามาในบรรยากาศโลกถูกหักเหไปมา เราจึงเห็นรายละเอียดบนดาวเคราะห์ชัดบ้าง เบลอบ้าง ภาพตัวดาวเคราะห์เองก็บิดเบี้ยวและสั่นไหวไปมา นักดาราศาสตร์จึงใช้เทคนิคนี้ในการบันทึกภาพของดาวพฤหัสบดี
Credit: International Gemini Observatory/NOIRLab/NSF/AURA M.H. Wong (UC Berkeley)
และด้วยมุมรับภาพของกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ทที่ค่อนข้างแคบ จึงไม่สามารถบันทึกวิดีโอดาวพฤหัสบดีได้ทั้งดวง จึงต้องบันทึกวิดีโอของดาวพฤหัสบดีทีละพื้นที่ โดยทีมนักวิจัยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 ส่วน และจะชี้กล้องโทรทรรศน์ไปยังตำแหน่งต่าง ๆ อย่างแม่นยำ เพื่อบันทึกภาพถ่ายวิดีโอของแต่ละพื้นที่จำนวน 38 เฟรม จากนั้นคัดเลือกภาพที่คมชัดที่สุดออกมาเพียง 10% พอได้ภาพที่คมชัดจากแต่ละพื้นที่แล้ว จะนำภาพมาต่อกันเพื่อให้ได้ภาพที่มีมุมมองกว้างมากขึ้นคล้ายกับการต่อภาพแบบพาโนรามา
แม้ว่ากล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ทจะใช้เวลาบันทึกภาพแต่ละพื้นที่ของดาวพฤหัสบดีเพียงแค่ไม่กี่วินาที แต่การบันทึกให้ครบทุกพื้นที่ใช้เวลานานระดับนาที ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอที่ลวดลายบนดาวพฤหัสบดีมีการเปลี่ยนตำแหน่งเนื่องจากการหมุนรอบตัวเองของตัวดาว ทีมนักวิจัยจึงต้องอ้างอิงแต่ละพื้นที่จากพิกัดละติจูด-ลองจิจูดบนดาวพฤหัสบดี เพื่อที่จะรวมทั้ง 9 ภาพเข้าด้วยกันให้กลายเป็นภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีในช่วงคลื่นอินฟราเรดความละเอียดสูงที่สุดเท่าที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลก
เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
อ้างอิง : https://www.gemini.edu/pr/gemini-gets-lucky-and-takes-deep-dive-jupiter-s-clouds