สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ 3 ที่ปล่อยยานสำรวจดาวอังคารขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ โดยยานของสหรัฐฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ และเฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี
ในวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2563 เวลา 18:50 น. (ตามเวลาประเทศไทย) จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V) ของสหรัฐอเมริกาที่บรรทุกรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ และเฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี ทะยานขึ้นสู่อวกาศ ณ ศูนย์ปล่อยจรวดในสถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล (Cape Canaveral) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ โดยหลังจากยานออกจากวงโคจรรอบโลกได้ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 เดือนครึ่ง ก่อนจะถึงดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
สำหรับรถสำรวจดาวอังคารรุ่นใหม่ของสหรัฐฯ “เพอร์เซเวียแรนส์” จะมีภารกิจศึกษาทางธรณีวิทยาและชีวดาราศาสตร์บนดาวอังคาร รวมไปถึงลักษณะภายนอกเหมือนกับรถสำรวจดาวอังคารของสหรัฐฯ รุ่นก่อนหน้า “คิวริออซิตี” ที่เริ่มสำรวจดาวอังคารในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 แต่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะมีลักษณะบางอย่างที่แตกต่าง ประกอบด้วย
- จำนวนกล้องถ่ายภาพทั้งหมดของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์มี 23 ตัว (ขณะที่รถสำรวจคิวริออซิตีมี 17 ตัว)
- ระบบเก็บตัวอย่างดินและหินดาวอังคาร (รถสำรวจคิวริออซิตีไม่มีส่วนนี้)
- แขนกลของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ที่ต้องถืออุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่หนักกว่า
- ล้อรถสำรวจที่ออกแบบใหม่
- แท่งสำหรับยึดให้รถหุ่นยนต์มีเสถียรภาพระหว่างการส่งขึ้นสู่อวกาศ
- อุปกรณ์ MOXIE สำหรับผลิตแก๊สออกซิเจนจากแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร
- เฮลิคอปเตอร์หุ่นยนต์อินเจนูอิตี ที่รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์บรรทุกไปด้วย
จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V)
จรวดรุ่นแอตลาส ไฟว์ (Atlas V) เป็นจรวดสำหรับบรรทุกสัมภาระขึ้นสู่อวกาศ ในจรวดตระกูลแอตลาสของสหรัฐอเมริกา ออกแบบโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) บริษัทด้านการบินอวกาศ การป้องกันประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ ปัจจุบันใช้งานโดย United Launch Alliance (ULA) บริษัทลงทุนร่วมระหว่างล็อกฮีดมาร์ติน กับบริษัทโบอิ้ง (Boeing) บริษัทอุตสาหกรรมการบินอวกาศอีกแห่งในสหรัฐฯ
จรวดรุ่นนี้เริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2545 เคยใช้ส่งสัมภาระขึ้นสู่อวกาศแล้ว 84 ครั้ง ล้มเหลว 1 ครั้ง และสำเร็จ 83 ครั้ง นอกจากนี้ จรวดรุ่นนี้ยังเคยใช้ในการส่งยานสำรวจระบบสุริยะลำอื่น ๆ ขึ้นสู่อวกาศ ได้แก่
- ยานเอ็มอาร์โอ สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2548)
- ยานนิวฮอไรซอนส์ สำรวจดาวพลูโต (พ.ศ.2549)
- ยานแอลอาร์โอ สำรวจดวงจันทร์ (พ.ศ.2552)
- ยานเอสดีโอ สำรวจดวงอาทิตย์ (พ.ศ.2553)
- ยานจูโน สำรวจดาวพฤหัสบดี (พ.ศ.2554)
- รถสำรวจคิวริออซิตี สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2554)
- ยานมาเวน สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2556)
- ยานโอไซริส-เร็กซ์ สำรวจดาวเคราะห์น้อย (พ.ศ.2559)
- ยานอินไซต์ สำรวจดาวอังคาร (พ.ศ.2561)
- ยานโซลาร์ออร์บิเตอร์ สำรวจดวงอาทิตย์ขององค์การอวกาศยุโรป (พ.ศ.2563)
สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ฐานปล่อยจรวดทางตะวัตออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ตั้งอยู่บนแหลมเคนาเวอรอล (Cape Canaveral) รัฐฟลอริดา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานในปี พ.ศ.2492 ในปัจจุบัน มีฐานปล่อยจรวด 3 ฐานอยู่ภายในพื้นที่แห่งนี้ ส่วนศูนย์อวกาศเคนเนดี จะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงนอกพื้นที่สถานี
พื้นที่แห่งนี้เริ่มใช้งานสำหรับการปล่อยจรวดในกิจการอวกาศของสหรัฐมาอย่างยาวนาน ทำให้เที่ยวบินอวกาศครั้งประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ หลายเที่ยวมาจากการปล่อยจรวดที่นี่ เช่น
- การส่งดาวเทียมของสหรัฐฯดวงแรกขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ (พ.ศ.2501)
- นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯคนแรก ที่ไปถึงอวกาศ (พ.ศ.2504)
- นักบินอวกาศชาวสหรัฐฯคนแรก ที่โคจรรอบโลก (พ.ศ.2505)
- ยานลำแรกของสหรัฐฯ ที่สำรวจดาวศุกร์สำเร็จ (พ.ศ.2505)
- ยานลำแรกของสหรัฐฯ ที่สำรวจอังคารสำเร็จ (พ.ศ.2507)
- ยานฝาแฝดวอยเอเจอร์ สำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก (พ.ศ.2520)
ความเกี่ยวข้องของพื้นที่แห่งนี้ต่อประวัติศาสตร์โครงการอวกาศของสหรัฐฯ ทำให้สถานีกองทัพอากาศเคปเคนาเวอรอล ได้รับการจดทะเบียนเป็นหนึ่งใน “สิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ” (National Historic Landmark)
มาร่วมเอาใจช่วยให้รถสำรวจรุ่นที่ 4 ของสหรัฐฯ (ถัดจากรถสำรวจโซเจอร์เนอร์ รถสำรวจฝาแฝดสปิริต-ออพพอร์ทูนิตี และรถสำรวจคิวริออซิตี) เดินทางถึงดาวอังคารอย่างราบรื่น
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.