สำหรับช่วงนี้ถึงแม้ดาวหางนีโอไวส์ C/2020 F3 (NEOWISE) จะผ่านช่วงที่โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ไปแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม ก็ยังคงสามารถเฝ้าติดตามสังเกตดาวหางผ่านกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ได้
ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับสังเกตการณ์ดาวหาง เริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 6 – 20 สิงหาคม 2563 ดาวหางนีโอไวส์จะปรากฎในตำแหน่งที่สูงจากขอบฟ้ามากกว่า 40 องศา และจะเคลื่อนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ออกห่างจากมวลอากาศหนาแน่นบริเวณเส้นขอบฟ้า ซึ่งถึงแม้ดาวหางจะออกห่างจากโลกไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถสังเกตการณ์ด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ได้ นอกจากนั้นยังทำให้มีเวลาในการสังเกตการณ์ยาวนานขึ้นกว่าช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอีกด้วย
ตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวหางนีโอไวส์ ในช่วงวันที่ 6- 30 สิงหาคม 2563
ปัจจุบันตำแหน่งดาวหางดวงนี้ อยู่ใกล้กับบริเวณกลุ่มดาวผมเบเรนิซ (Coma Berenices) สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ระหว่างกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Bootes) และกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) จากข้อมูลการสังเกตการณ์ของนักดาราศาสตร์พบว่า ความสว่างของดาวหางดวงนี้ไม่ได้ลดลงดังเช่นที่คำนวณไว้ ปัจจุบันมีค่าอันดับความสว่างปรากฎ 5 (ขณะที่ดาวที่สว่างน้อยที่สุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฎ 6)
กราฟแสดงค่าอันดับความสว่างของดาวหางนีโอไวส์ ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายน 2563 โดยที่เส้นโค้งสีส้มเป็นค่าคาดการณ์ความสว่างของดาวหาง
ข้อมูลกราฟ : Comet Observation database (COBS)
ดาวหางนีโอไวส์มีหางฝุ่นและหางไอออนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน สำหรับหางไอออนหรือหางแก๊สนั้นพบว่ามีองค์ประกอบเป็นโซเดียม คล้ายกับดาวหางชื่อดังที่พบในอดีต เช่น ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale–Bopp) และดาวหางไอซอน (ISON) และจากการศึกษาในย่านรังสีอินฟราเรดพบว่านิวเคลียสของดาวหาง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 กิโลเมตร มีขนาดใกล้เคียงกับดาวหางสว่างในอดีตอย่างเช่น ดาวหางเฮียกูตาเกะ (Hyakutake) และดาวหางคาบสั้นอื่นๆ อีกหลายดวง
อุปกรณ์ที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์
อุปกรณ์พื้นฐานเบื้องต้นสามารถใช้กล้องสองตาหรือกล้องส่องทางไกลที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 7-10 เท่า ขนาดหน้ากล้องไม่น้อยกว่า 50 มิลลิเมตรขึ้นไป เพื่อให้มีกำลังรวมแสงที่เพียงพอต่อการสังเกตการณ์
ตัวอย่างกล้องสองตาที่ใช้สำหรับการสังเกตดาวหาง ตัวเลข 7x50 หมายถึง กล้องมีกำลังขยาย 7 เท่า และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางหน้ากล้อง 50 มิลลิเมตร
ลักษณะภาพดาวหางเมื่อมองผ่านกล้องสองตากำลังขยาย 7 เท่า จะสามารถสังเกตเห็นหัวดาวหาง ส่วนของโคมาและหางฝุ่นทอดเป็นแนวยาวออกไป แต่ในส่วนของหางแก๊สจะไม่สามารถสังเห็นด้วยตาเปล่าได้
สถานที่สำหรับสังเกตการณ์
สำหรับสถานที่สังเกตดาวหาง ควรเป็นสถานที่ที่ฟ้าใสเคลียร์ ไม่มีเมฆบดบัง เป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง มีมุมมองเปิดกว้างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยสามารถเริ่มสังเกตเห็นดาวหางได้ชัดเจนในช่วงเวลา 20:00 น. โดยประมาณเป็นต้นไป
เรียบเรียง : ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ - หัวหน้างานบริการวิชาการดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
[1] https://www.cobs.si/?fbclid=IwAR2KQvhEsP7jrUsD5fL3CyspezM4BayV6gjwFcTozpb18MFHREFgxEfGs40
[2] https://theskylive.com/c2020f3-info