ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ในระบบสุริยะที่เราอาศัยอยู่ ปัจจุบันพื้นผิวดวงอาทิตย์ค่อนข้างเงียบสงบเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ดวงอื่น แม้ว่าจะเกิดจุดบนดวงอาทิตย์ (Sunspots) ที่บรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ ซึ่งจุดบนดวงอาทิตย์คือบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณโดยรอบเป็นบริเวณที่เส้นสนามแม่เหล็กพุ่งตัดพื้นผิวดวงอาทิตย์และขวางการพาความร้อนจากภายในดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ที่ความเข้มแสงต่ำกว่าบริเวณรอบข้าง และการลุกจ้า (Solar Flare) คือการระเบิดขนาดใหญ่ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์เป็นครั้งคราว แต่พลังงานที่ปลดปล่อยออกมามีเพียงแค่ 0.3 เปอร์เซ็นของอัตราพลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์แผ่ออกมา

as20200918 1 01

ภาพแสดงกราฟความแตกต่างของความสว่างพื้นผิวดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ชื่อ KIC7849521

Credit : MPS / hormesdesign.de

 

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะใช้ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ต้นแบบในการอธิบายคุณสมบัติของดาวฤกษ์ดวงอื่น ๆ ซึ่งดาวฤกษ์ที่มีขนาด มวล และอุณหภูมิเท่ากับดวงอาทิตย์ ก็น่าจะมี “พฤติกรรม” ไม่ต่างจากดวงอาทิตย์มากนัก แต่ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า มีดาวฤกษ์ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพคล้ายกับดวงอาทิตย์ เกิดการเปลี่ยนแปลงความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 5 เท่า

 

as20200918 1 02

แผนภาพอธิบายโครงสร้างของดวงอาทิตย์

Credit : Roen Kelly / Astronomy.com

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันมักซ์พลังค์เพื่อการวิจัยระบบสุริยะ (Max Planck Institute for Solar System Research หรือ MPS) ของประเทศเยอรมนี นำโดย Timo Reinhold รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขององค์การนาซา เพื่อหาดาวฤกษ์ที่มีคุณสมบัติทางกายภาพคล้ายดวงอาทิตย์ กล่าวคือ มีอุณหภูมิ แรงโน้มถ่วง และพื้นผิวคล้ายดวงอาทิตย์

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ช่วงที่ดาวมีค่าความสว่างสูงสุดเป็นช่วงที่ดาวหันด้านที่ไม่มีจุดเข้าหากล้อง ส่วนช่วงที่กราฟมีค่าความสว่างต่ำสุด เป็นจังหวะที่ดาวหันด้านที่มีจุดเข้าหากล้อง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตรวจพบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ 369 ดวง ที่มีคาบการหมุนรอบตัวเองระหว่าง 20 - 30 วัน เทียบได้กับคาบการหมุนรอบตัวเองเฉลี่ยของดวงอาทิตย์คือ 24.5 วัน และสิ่งที่น่าสนใจคือความสว่างของดาวฤกษ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลของดาวฤกษ์ขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ จำนวน 2,529 ดวง แต่ไม่สามารถตรวจวัดอัตราการหมุนได้ แต่คาดว่ามีดาวฤกษ์จำนวนมากที่หมุนในอัตราใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ และการที่ข้อมูลดาวฤกษ์เหล่านี้คล้ายกับดวงอาทิตย์ในหลายด้าน สอดคล้องกับแนวคิดไดนาโมสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ (Solar dynamo) ซึ่งเกิดจากกระบวนการทางกายภาพที่สร้างสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์

 

 

ข้อมูลที่พบจากกล้องโทรทรรศน์เคปเลอร์แสดงถึงความแตกต่างระหว่างดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีเพียงดวงอาทิตย์ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพที่รุนแรงเหมือนดาวฤกษ์ดวงอื่น เพราะการศึกษาไอโซโทปกัมมันตรังสีที่เกิดจากอนุภาครังสีคอสมิกสามารถสันนิษฐานได้ว่า ตลอดช่วงเวลา 9,000 ปีที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรากฏการณ์สำคัญครั้งใหญ่  และ Frederic Clette นักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาว SILSO ในประเทศเบลเยียม กล่าวถึงข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ว่ามีความน่าสนใจและจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาดาวฤกษ์อย่างละเอียด เพื่อพิสูจน์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับดวงทิตย์ต่อไป

 

เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์  สดร.

 

อ้างอิง :

[1] https://skyandtelescope.org/astronomy-news/sun-vs-sun-like-stars/

[2] https://science.sciencemag.org/content/368/6490/518

[3] http://old.narit.or.th/index.php/astronomy-article/1329-100-hr-diagram

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 10264