วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลาประมาณ 22:57 น. ตามเวลาประเทศไทย ยานสำรวจดาวอังคาร “โฮป (Hope)” ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จุดเครื่องยนต์เพื่อลดความเร็วลง และเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ สร้างประวัติศาสตร์เป็นหน่วยงานอวกาศลำดับที่ 5 ของโลกที่สามารถส่งยานไปสำรวจดาวอังคารได้สำเร็จ
204 วัน กับระยะ 480 ล้านกิโลเมตร
โฮปใช้เวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคาร เป็นเวลา 204 วัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 121,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยยานจะต้องลดความเร็วให้เหลือประมาณ 18,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในระยะเวลา 27 นาที ซึ่งโฮปสามารถทำได้สำเร็จและเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารเป็นที่เรียบร้อย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คาดหวังว่ายานโฮปจะสามารถปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดาวอังคารได้นานอย่างน้อย 2 ปี จะเริ่มส่งข้อมูลกลับมาภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 และอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
ยานโฮปมีภารกิจการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ดังนี้
- ศึกษาวัฏจักรของสภาพอากาศในรอบวันและฤดูกาลในรอบปีของดาวอังคาร
- ศึกษาสภาพอากาศในบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร (เช่น พายุฝุ่น)
- ศึกษาความแตกต่างทางสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่บนดาวอังคาร
- ศึกษากระบวนการสูญเสียแก๊สจากชั้นบรรยากาศของดาวอังคารสู่อวกาศ
บนยานติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดบรรยากาศดาวอังคาร 3 ชิ้น ประกอบด้วยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงหลายช่วงคลื่น ใช้ตรวจวัดฝุ่นและโอโซนในบรรยากาศ อุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอินฟราเรด ใช้ศึกษาบรรยากาศชั้นล่างของดาวอังคาร และอุปกรณ์ตรวจวัดสเปกตรัมในช่วงรังสีอัลตราไวโอเลต ใช้ตรวจวัดระดับของไฮโดรเจนและออกซิเจน
Burj Khalifa ตึกที่สูงที่สุดในโลก ณ เมืองดูไบ เปลี่ยนเป็นสีแดงสดใสพร้อมกับข้อความที่มีความหมายว่า “ภารกิจประสบความสำเร็จแล้ว”
7 ปีแห่งความพยายาม
โครงการยานสำรวจดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยเชคเคาะลีฟะฮ์ บิน ซายิด อัลนะฮ์ยาน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและเพิ่มความรู้ความเข้าใจถึงบรรยากาศของดาวอังคาร และเลือกชื่อ “โฮป” กับ “อัลอะมัล” ให้ยานสำรวจดาวอังคารลำนี้ เพื่อสื่อถึงการมองโลกในแง่ดีของชาวอาหรับรุ่นใหม่นับล้านคน
“เราไม่ได้ต้องการแค่ไปให้ถึงดาวอังคาร แต่เราใช้ดาวอังคารเป็นเครื่องมือเพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น รัฐบาลอยากเห็นชาวเอมิเรตส์รุ่นใหม่มี mindset ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยศาสตร์ขั้นสูงอย่างก้าวกระโดด” ส่วนหนึ่งของคำกล่าวโดยอัมราน ชารัฟ (Omran Sharaf) ผู้จัดการโครงการสำรวจดาวอังคารในครั้งนี้ กล่าวไว้ก่อนที่จะส่งยานขึ้นสู่อวกาศ
อ้างอิง :
[1] https://phys.org/news/2021-02-uae-probe-mars-orbit-arab.html
[2] https://nssdc.gsfc.nasa.gov/nmc/spacecraft/display.action?id=2020-047A
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.