วัตถุท้องฟ้านั้นอยู่ไกลจากเรามาก การศึกษาให้ครบทุกแง่ทุกมุมในคราวเดียวนั้นเป็นไปได้ยาก นักดาราศาสตร์จึงจำเป็นต้องคิดค้นเครื่องมือและเทคนิคการเก็บข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความหลากหลาย จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติในทางดาราศาสตร์ ที่จะมีการศึกษาวัตถุท้องฟ้าวัตถุเดียวแต่ใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ที่แตกต่างกัน ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้นำเสนอภาพจุดร้อน (Hot spot) บนบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี โดยเปรียบเทียบภาพที่บันทึกได้จากกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ท (Gemini North Telescope) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.1 เมตร และกล้องถ่ายภาพ JunoCam ของยานอวกาศจูโน ดังภาพ
ภาพแสดงจุดร้อนบนบรรยากาศดาวพฤหัสบดี บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์เจมินินอร์ท (ภาพซ้าย) และภาพจากกล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน (ภาพขวา) เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2563 ประมวลผลภาพโดย Tom Momary และ Brian Swift
จุดร้อนบนดาวพฤหัสบดีค้นพบโดยยานอวกาศกาลิเลโอ (Galileo) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นบริเวณที่มีสีเข้มกว่าพื้นที่โดยรอบ แต่จะสว่างขึ้นเมื่อศึกษาโดยกล้องโทรทรรศน์เจมิไนนอร์ทในช่วงคลื่นอินฟาเรด ทำให้เห็นรายละเอียดของจุดร้อนที่ชัดเจนขึ้น และเมื่อใช้กล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน ถ่ายภาพในบริเวณเดียวกันขณะที่ยานโคจรโฉบเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดี ครั้งที่ 29 (Perijove 29) แสดงให้เห็นแนวพายุสีดำแบบความละเอียดสูง ช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจกลไกการเกิดพายุและคลื่นบนดาวพฤหัสบดี รวมไปถึงการไขปริศนาเรื่องน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีด้วย
เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
อ้างอิง :
[1] https://www.nasa.gov/image-feature/jpl/a-hot-spot-on-jupiter
[2] https://www.missionjuno.swri.edu/junocam/processing