กล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกรวมถึงกล้องโทรรศน์อวกาศนั้นเปรียบเสมือน “ดวงตา” ที่สำคัญของมนุษยชาติ สามารถตรวจจับแสงในช่วงคลื่นอื่นมากกว่าที่ตามนุษย์มองเห็นได้ ตั้งแต่ช่วงคลื่นวิทยุไปจนถึงรังสีแกมมา เกิดเป็นดาราศาสตร์ในหลายช่วงคลื่น (multiwavelength astronomy) ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาและทำความเข้าใจวัตถุในห้วงอวกาศอย่างมาก
ภาพเหล่านี้เป็นภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราที่ทำงานร่วมกับกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอื่น ๆ ช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเอกภพได้ดียิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยวัตถุหลากหลายประเภท ได้แก่ กาแล็กซี กระจุกกาแล็กซี เศษซากซูปเปอร์โนวา ระบบดาวคู่ และเนบิวลาดาวเคราะห์ แสดงให้รายละเอียดโครงสร้างของวัตถุในช่วงคลื่นต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน
M82 กาแล็กซีที่ให้กำเนิดดาวฤกษ์สูงกว่าปกติ
Messier 82 (ภาพบนซ้าย) ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (พื้นที่สีน้ำเงินและสีชมพู) แสดงให้เห็นกลุ่มแก๊สในช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์ที่กระจายตัวออกมากว้างกว่า 20,000 ปีแสง และมีอุณหภูมิสูงกว่าสิบล้านองศา เกิดจากการระเบิดซูเปอร์โนวาซ้ำแล้วซ้ำเล่า และข้อมูลแสงในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (พื้นที่สีแดงและสีส้ม) แสดงให้เห็นรูปร่างของกาแล็กซี
Abell 2744 กระจุกกาแล็กซีที่ใหญ่ที่สุดในเอกภพ
Abell 2744 (ภาพบนกลาง) กระจุกกาแล็กซีที่อยู่ร่วมกันภายใต้แรงโน้มถ่วง พื้นที่ระหว่างกาแล็กซีเติมเต็มไปด้วยแก๊สร้อนจำนวนมหาศาล อุณหภูมินับสิบล้านองศา จึงปลดปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมา (พื้นที่กระจายตัวสีน้ำเงิน) ภาพนี้เป็นภาพที่รวมแสงในช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา และแสงในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (พื้นที่สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน)
SN 1987A ซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดในรอบศตวรรษ
Supernova 1987A (ภาพบนขวา) เป็นซากการตายของดาวฤกษ์มวลมาก ค้นพบเมื่อวันที่ 24 กุมพาพันธ์ พ.ศ. 2530 ใกล้กับบริเวณเมฆแมกเจลแลนใหญ่ ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา (พื้นที่สีน้ำเงิน) แสดงตำแหน่งคลื่นกระแทกของซุปเปอร์โนวาซึ่งแพร่กระจายออกไปและปะทะเข้ากับสสารโดยรอบประมาณ 4 ปีแสงจากจุดศูนย์กลาง และข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (พื้นที่สีส้มและสีมแดง) แสดงให้เห็นโครงสร้างภายในวงแหวนที่เกิดจากการระเบิดอย่างรุนแรง
Eta Carinae กับดาวฤกษ์ที่ใกล้จะจบสิ้นอายุขัย ?
Eta Carinae (ภาพล่างซ้าย) เป็นระบบดาวฤกษ์ที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์มวลมากอย่างน้อย 2 ดวงที่โคจรอยู่ใกล้กันมาก เกิดการปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมา ซึ่งในภาพนี้ประกอบด้วยข้อมูลในช่วงคลื่นแสง 3 ประเภท คือ ข้อมูลในช่วงแสงที่ตามองเห็น (พื้นที่สีขาว) แสงช่วงรังสีอัลตร้าไวโอเลต (พื้นที่สีฟ้า) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และแสงช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์ (พื้นที่สีม่วง) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา การระเบิดของดาวส่งผลให้เกิดวงแหวนของรังสีเอ็กซ์ที่ร้อนจัด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.3 ปีแสงล้อมรอบดาวทั้งสอง
Cartwheel Galaxy ล้อเกวียนแห่งเอกภพ
Cartwheel Galaxy (ภาพล่างกลาง) เป็นกาแล็กซีมีลักษณะคล้ายล้อเกวียน เกิดจากกาแล็กซีขนาดเล็กชนเข้ากับใจกลางของอีกกาแล็กซีหนึ่ง ส่งผลให้เกิดคลื่นกระแทกกวาดไปทั่วบริเวณโดยรอบ และเกิดการก่อตัวของดาวฤกษ์จำนวนมาก ข้อมูลในช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์ (พื้นที่สีม่วง) แสดงให้เห็นแก๊สร้อนที่กระจายตัวจากจุดที่ชนกันไปมากกว่า 150,000 ปีแสง และข้อมูลช่วงคลื่นที่ตามองเห็น (พื้นที่สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน) แสดงให้เห็นว่าผลจากการชนกันของกาแล็กซีอาจทำให้เกิดการก่อตัวของดาวฤกษ์ได้ทั่วบริเวณ
Helix Nebula ช่วงชีวิตสุดท้ายของดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์
Helix Nebula (ภาพล่างขวา) เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ เกิดจากช่วงชีวิตสุดท้ายของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ โดยมวลสารส่วนที่อยู่ชั้นนอกจะกระจายตัวออก จากนั้นแกนกลางจะยุบตัวลง นักดาราศาสตร์คาดว่าดวงอาทิตย์กลายสภาพเป็นเนบิวลาเช่นนี้ในอีก 5 พันล้านปีข้างหน้า โดยภาพนี้ประกอบขึ้นจากข้อมูลในช่วงคลื่นอินฟราเรด (พื้นที่สีเขียวและสีแดง) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ ข้อมูลในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น (พื้นที่สีส้มและสีน้ำเงิน) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ข้อมูลในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต (พื้นที่สีฟ้า) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ GALEX (Galaxy Evolution Explorer) และข้อมูลช่วงคลื่นรังสีเอ็กซ์ (พื้นที่สีขาว) จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ที่แสดงให้เห็นดาวแคระขาวบริเวณใจกลางเนบิวลา โดยเนบิวลานี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 ปีแสง
ทั้งนี้ภาพ SN 1987A Eta Carinae และ Helix Nebula ได้รับการพัฒนาโดยเป็นส่วนหนึ่งของ Universe of Learning (UoL) ของ NASA ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กล้องโทรทรรศน์สปิตเซอร์ และภารกิจด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อื่น ๆ ของ NASA เข้าด้วยกัน
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง :