Lucy เป็นยานสำรวจเพื่อเดินทางไปศึกษาดาวเคราะห์น้อยโทรจัน (Trojan) ซึ่งเป็นกลุ่มของดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรทับซ้อนกับวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ซึ่งยังไม่เคยมีการส่งยานไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยกลุ่มนี้มาก่อน นั่นหมายความว่า Lucy จะเป็นยานลำแรกที่จะเดินทางไปสำรวจและเก็บข้อมูลของพวกมันอย่างจริงจัง หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการได้เปิดเผยแผนภารกิจและข้อมูลของชุดเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับยาน Lucy โดยมีเครื่องมือหลัก ๆ ทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่

as20210427 1 01

 

  • Multi-spectral Visible Imaging Camera (MVIC) และ Linear Etalon Imaging Spectral Array (LEISA) หรือ L’Ralph ทำหน้าที่ถ่ายภาพของดาวเคราะห์น้อยและส่งข้อมูลให้นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบและปริมาณของธาตุต่าง ๆ บนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย
  • Long Range Reconnaissance Imager หรือ L’LORRI เป็นกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่จะถ่ายภาพในช่วงความยาวคลื่น 0.35 - 0.85 ไมครอน
  • Thermal Infrared Spectrometer หรือ L’TES ทำหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิของดาวเคราะห์น้อยและศึกษาโครงสร้างของดาวเคราะห์น้อย
  • High-Gain Antenna จานรับ-ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ ใช้ติดต่อกับทีมควบคุม และยังสามารถใช้วัดมวลของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายโดยใช้หลักการ Doppler Shift ได้อีกด้วย

            ล่าสุด Donya Douglas-Bradshaw ผู้จัดการโครงการได้เปิดเผยภาพที่แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้ได้ตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เกือบจะครบทุกชิ้นแล้ว

 

as20210427 1 02

ภาพแสดงภาพ  L’TES ที่อยู่ในห้องปลอดเชื้อ (cleanroom) ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University :ASU)

           

            หนึ่งในอุปกรณ์ที่น่าสนใจของยานลำนี้ คือ L’TES ที่ออกแบบและพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต (Arizona State University) ก่อนส่งมายังบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin Space) ที่เป็นบริษัทด้านอากาศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2563 และเริ่มประกอบ  L’TES  เข้ากับยานอวกาศ  หน้าที่หลักของเครื่อง L’TES คือการตรวจวัดพลังงานในช่วงอินฟราเรดที่ปลดปล่อยออกมาจากพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยกลุ่มโทรจัน ในช่วงความยาวคลื่น 4 - 50 ไมโครเมตร ทำให้ระบุองค์ประกอบพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยได้  รูปแบบและการติดตั้ง L’TES ถูกถอดแบบมาจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของยาน OSIRIS-REx และ Mars Global Surveyor ซึ่งทำหน้าที่ตรวจวัดและวิเคราะห์องค์ประกอบและโครงสร้างของวัตถุเป้าหมาย ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิในช่วงความยาวคลื่นอินฟราเรด

           

ถึงแม้ว่าประชากรโลกต้องเผชิญกับปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งผลกระทบลุกลามไปถึงโครงการวิจัยและภารกิจสำรวจอวกาศ แต่นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการยังยืนยันว่า Lucy ยังเดินตามแผนงานทุกประการ และผลปฏิบัติงานของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างน่าพอใจ และวางแผนไว้ว่าจะส่งยาน Lucy ขึ้นสู่อวกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

ดาวเคราะห์น้อยได้ชื่อว่าเป็นวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดในระบบสุริยะ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ อาจนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ที่จะอธิบายได้ว่าระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เช่นเดียวกันกับการค้นพบฟอสซิลอายุราว ๆ 4 ล้านปี อย่างป้าลูซี ที่ทำให้จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของต้นตระกูลของมนุษย์ถูกเติมเต็มมากขึ้น และนั่นคือที่มาของการตั้งชื่อว่า ยาน Lucy

 

เรียบเรียง : นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา

 

แหล่งที่มาของข่าว

[1] https://www.nasa.gov/feature/goddard/2021/first-mission-to-the-trojan-asteroids-integrates-its-second-scientific-instrument

[2] https://www.nasa.gov/image-feature/goddard/2020/lucy-spacecraft

[3] https://www.nasa.gov/feature/goddard/2020/first-scientific-instrument-installed-on-lucy-spacecraft

[4] http://lucy.swri.edu/mission/Spacecraft.html

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 3051