องค์การนาซาเดินหน้าเตรียมความพร้อมส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทีมิส  ซึ่งขณะนี้ถึงขั้นตอนที่นาซาตัดสินใจเลือกบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เข้ามาพัฒนายานลงจอด เพื่อพานักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ สองคนลงสู่ดวงจันทร์ รวมถึงนักบินอวกาศหญิงและนักบินอวกาศผิวสีที่จะไปถึงดวงจันทร์เป็นคนแรก

as20210427 4 01

ภาพจินตนาการแสดงจรวดสตาร์ชิปของบริษัทสเปซเอ็กซ์ ที่ได้รับคัดเลือกให้พานักบินอวกาศลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในโครงการอาร์ทีมิส [Credit ภาพ : SpaceX]

 

จรวด SLS (Space Launch System) ขององค์การนาซาจะนำยานโอไรออน (Orion) ที่บรรทุกนักบินอวกาศ 4 คนขึ้นสู่อวกาศไปเชื่อมกับสถานีอวกาศเกตเวย์ (Gateway) จากนั้น นักบินอวกาศสองคนจะย้ายไปอยู่ในยาน HLS (Human Landing System) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์สำหรับเที่ยวบินลงสู่ดวงจันทร์ และใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ จากนั้นนักบินอวกาศสองคนนี้จะขึ้นยานลงจอดมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศเกตเวย์ในวงโคจรรอบดวงจันทร์เพื่อย้ายกลับไปยังยานโอไรออน พร้อมกับนักบินอวกาศอีกสองคนที่เหลือที่โคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนที่ยานโอไรออนจะพานักบินอวกาศทั้งสี่คนกลับมายังโลก

สำหรับระบบยานลงจอดบนดวงจันทร์ที่องค์การนาซาตกลงราคากับบริษัทสเปซเอ็กซ์อยู่ที่ 2.89 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 90,200 ล้านบาท)

 

 

“องค์การนาซาและหน่วยงานร่วมมือจะดำเนินภารกิจพามนุษย์ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรกให้สำเร็จภายในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในฐานะองค์กรที่ก้าวสู่การสำรวจอวกาศในระยะยาวที่มีความเท่าเทียมทางเพศสำหรับผู้หญิง” Kathy Lueders รองผู้บริหารภารกิจการสำรวจและปฏิบัติการณ์โดยมนุษย์กล่าว “ความก้าวหน้าครั้งสำคัญครั้งนี้จะช่วยให้มนุษย์สามารถดำเนินการสำรวจดวงจันทร์ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงใช้เป็นแนวทางของภารกิจสู่เป้าหมายในระบบสุริยะที่ไกลกว่านั้น ซึ่งรวมถึงดาวอังคาร”

บริษัทสเปซเอ็กซ์ ทำงานร่วมกับกับผู้เชี่ยวชาญขององค์การนาซาอย่างใกล้ชิดในขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบระบบ HLS ด้านการออกแบบ พัฒนาและทดสอบยานลงจอดให้ผ่านมาตรฐานการบินอวกาศแบบมีนักบินอวกาศขององค์การนาซา หลักการสำคัญด้านระบบความปลอดภัยดังกล่าวจะครอบคลุมประเด็นทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ความปลอดภัย สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์

“ความร่วมมือนี้ยังเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับนาซาและทีมอาร์ทีมิส” Lisa Watson-Morgan ผู้จัดการโครงการ HLS ในศูนย์การบินอวกาศมาร์แชลในรัฐแอละแบมา สหรัฐฯ กล่าว “โครงการอะพอลโล ได้พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถส่งมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ แม้จะเป็นสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ ผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกับที่นาซาทดสอบเพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพเฉพาะทาง ในครั้งนี้ พวกเราจะพานักบินอวกาศกลับไปสู่พื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้ง โดยจะสำรวจพื้นที่อื่นบนดวงจันทร์ในระยะเวลาที่นานขึ้น”

จรวดสตาร์ชิป (Starship) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ จะเป็นระบบ HLS ที่ใช้ลงจอดบนดวงจันทร์ ใช้เครื่องยนต์จรวดเชื้อเพลิงมีเทนและรูปแบบเที่ยวบินที่พัฒนาจากจรวดรุ่นก่อนหน้าของสเปซเอ็กซ์ (Falcon และ Dragon) ซึ่งจรวดสตาร์ชิปแบบที่ใช้ลงจอดบนดวงจันทร์นั้นจะมีห้องนักบินที่กว้างและประตูกักอากาศสองบานสำหรับเป็นทางให้นักบินอวกาศเดินออกไปสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ ผู้ออกแบบจรวดสตาร์ชิปยังตั้งใจออกแบบระบบส่งจรวดและลงจอดให้สามารถนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย

องค์การนาซาพร้อมหน่วยงานอวกาศภาครัฐบาลของชาติอื่นและบริษัทเอกชนด้านอวกาศที่ร่วมมือ จะดำเนินโครงการอาร์ทีมิสด้วยระบบจรวดแและยานต่าง ๆ ทั้งจรวด SLS ยานโอไรออน ระบบ HLS (จรวดสตาร์ชิปของบริษัทสเปซเอ็กซ์) และสถานีอวกาศเกตเวย์ เพื่อวัตถุประสงค์หลายอย่าง เช่น การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผลกำไรทางเศรษฐกิจ แรงบันดาลใจเกี่ยวกับอวกาศแก่เยาวชนรุ่นใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยีการลงจอดอย่างแม่นยำ การพัฒนาศักยภาพเพื่อการสำรวจพื้นที่อื่นบนดวงจันทร์ การหารูปแบบและพัฒนาที่อยู่อาศัย รถสำรวจบนดวงจันทร์ และการทดสอบระบบผลิตพลังงานบนดวงจันทร์ เป็นต้น นวัตกรรมและความก้าวหน้าที่ได้จากโครงการอาร์ทีมิสจะช่วยปูทางให้กับองค์การนาซาและหน่วยงานพันธมิตรให้เตรียมพร้อมสู่การส่งนักบินอวกาศสำรวจดาวอังคาร ก้าวสำคัญต่อไปในการสำรวจอวกาศของมนุษยชาติ

 

ที่มาของข่าว

https://www.nasa.gov/press-release/as-artemis-moves-forward-nasa-picks-spacex-to-land-next-americans-on-moon

 

แปลและเรียบเรียง

พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 8256