ขณะนี้อินเจนูอิตีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายานบินสำรวจสามารถขึ้นบินบนดาวอังคารได้ เป้าหมายต่อไปจะเป็นการทดสอบปฏิบัติการอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนายานบินสำรวจดาวอังคารรุ่นต่อไปในอนาคต
วีดีโอแสดงรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ที่ถ่ายภาพตัวเองคู่กับเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี ด้วยกล้องถ่ายภาพบนแขนกลของรถสำรวจเมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.2021 [Credit ภาพ : NASA / JPL-Caltech / MSSS]
ช่วงเฟสใหม่นี้จะเริ่มหลังจากเที่ยวบินที่ 4 และ 5 ของเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตีเสร็จสิ้น การเพิ่มเฟสใหม่เป็นผลจากการปฏิบัติภารกิจของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ที่ก้าวหน้ากว่ากำหนดการที่วางไว้ ทีมควบคุมจึงตัดสินใจให้อินเจนูอิตีสำรวจบริเวณพื้นที่ก้นหลุมอุกกาบาตเจซีโรที่อยู่ไม่ไกลจากยาน จะเป็นการบินเพื่อสำรวจอย่างละเอียดเป็นครั้งแรก ซึ่งจากการทดสอบเที่ยวบินที่ผ่านมาอินเจนูอิตีแสดงให้เห็นถึงสมรรถนะที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งด้านพลังงาน การโทรคมนาคม และระบบนำทางระหว่างเที่ยวบิน การทดสอบเฟสใหม่นี้จึงเพิ่มเข้ามาโดยไม่มีผลกระทบต่อกำหนดการปฏิบัติภารกิจของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์แต่อย่างใด
เฟสการทดสอบใหม่นี้จะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณสองสัปดาห์นับจากนี้ (กลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2021) ตั้งแต่เที่ยวบินที่ 6 เป็นต้นไป แต่ก่อนหน้านี้ อินเจนูอิตีจะมีในช่วงเฟสเปลี่ยนผ่านที่รวมเที่ยวบินที่ 4 และ 5 ไว้ด้วย
- เที่ยวบินที่ 4 : เฮลิคอปเตอร์บินไปทางใต้เป็นระยะ 133 เมตร เพื่อถ่ายภาพทางอากาศของบริเวณที่อาจเป็นพื้นที่ลงจอดแห่งใหม่ก่อนที่เฮลิคอปเตอร์จะบินกลับมาที่พื้นที่ Wright Brothers Field ซึ่งเป็นพื้นที่เฮลิคอปเตอร์ออกบินในเที่ยวบินแรก โดยเที่ยวบินนี้จะบินเป็นระยะทางมากกว่าเดิม อัตราเร็วสูงกว่าเดิม และระยะเวลาเที่ยวบินที่นานกว่าเที่ยวบินที่ 3
- เที่ยวบินที่ 5 เป็นเที่ยวบินขาเดียวเพื่อพาเฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตีลงจอดสู่พื้นที่แห่งใหม่ หากสถานะของอินเจนูอิตียังคงดีอยู่หลังจบเที่ยวบิน จึงจะเริ่มเข้าสู่เฟสใหม่
การเปลี่ยนแนวทางภารกิจของอินเจนูอิตี
การเปลี่ยนเป้าหมายภารกิจของอินเจนูอิตีจากการทดสอบเทคโนโลยีไปเป็นการทดสอบปฏิบัติการ รวมถึงเที่ยวบินขาเดียวหลาย ๆ ครั้งในเฟสใหม่นี้จะช่วยพัฒนาการบินให้มีความแม่นยำมากขึ้น ใช้ประโยชน์จากการถ่ายภาพทางอากาศระหว่างเที่ยวบินมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นตามไปด้วย
การเปลี่ยนเฟสในการปฏิบัติภารกิจจะทำให้อินเจนูอิตีพึ่งพารถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์น้อยลง ซึ่งเพอร์เซเวียแรนส์จะมุ่งหน้าสำรวจก้อนหินและตัวอย่างตะกอนเพื่อศึกษาเรื่องจุลชีพดึกดำบรรพ์ต่อไป จนถึงตอนนี้ รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้เคลื่อนตัวจากพื้นที่ลงจอดไกลกว่า 10 เมตรแล้ว เพื่อหาเป้าหมายสำรวจต่อไป โดยในตอนนี้ กำลังมุ่งหน้าไปทางใต้สู่หย่อมบริเวณที่ทีมนักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะคุ้มค่าต่อการสำรวจและศึกษาตัวอย่าง โดยจะสำรวจพื้นที่หินโผล่ (Outcrop) เป็นแนวยาว 2 กิโลเมตรบนก้นหลุมอุกกาบาต ซึ่งจะใช้เวลาสำรวจหลายร้อยวัน ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปทางเหนือ และไปทางตะวันตกสู่พื้นที่ปากแม่น้ำเก่าของหลุมอุกกาบาตเจซีโร
เพอร์เซเวียแรนส์เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ โดยมีอินเจนูอิตีที่คอยสนับสนุนทางอากาศ สามารถถ่ายภาพทางอากาศบริเวณตำแหน่งเป้าหมายที่เพอร์เซเวียแรนส์กำลังมุ่งหน้าไป ทำแผนที่แสดงความสูงต่ำของภูมิประเทศ หรือเข้าถึงพื้นที่ที่รถสำรวจไม่สามารถเคลื่อนที่ไปถึงได้ ข้อมูลการปฏิบัติการเหล่านี้จะถูกบันทึกไว้เพื่อนำไปพัฒนายานบินสำรวจดาวอังคารรุ่นต่อไป
ความถี่ของเที่ยวบินในช่วงเฟสใหม่นี้จะน้อยลงจากทุก ๆ 2 - 3 วัน เป็นทุก 2 - 3 สัปดาห์ และต้องกำหนดเส้นทางการบินเพื่อไม่ให้ไปรบกวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของเพอร์เซเวียแรนส์ ซึ่งเที่ยวบินเหล่านี้จะจบลงภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2021 ช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ทีมควบคุมมีเวลาเร่งทำภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่วางแผนไว้ก่อนที่ดาวอังคารจะเคลื่อนตัวไปอยู่หลังดวงอาทิตย์ช่วงกลางเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 จะทำให้ศูนย์ภาคพื้นดินบนโลกไม่สามารถติดต่อกับยานบนดาวอังคารได้ชั่วคราว
อ้างอิง : https://www.jpl.nasa.gov/news/nasas-ingenuity-helicopter-to-begin-new-demonstration-phase
เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.