นักดาราศาสตร์ค้นพบรังสีเอกซ์บนดาวยูเรนัสเป็นครั้งแรก จากข้อมูลที่บันทึกได้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545  ตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Geophysical Research เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา [1]

as20210507 1 01

 

ดาวยูเรนัสเป็นดาวเคราะห์ที่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 ในระบบสุริยะ องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนและฮีเลียม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าโลกถึง 4 เท่า มีวงแหวนจาง ๆ 2 วง ล้อมรอบบริเวณเส้นศูนย์สูตร และมีแกนเอียงจากแนวตั้งฉากของระนาบวงโคจรถึง 98 องศา (โลกมีแกนเอียง23.5 องศา) ทำให้ดาวยูเรนัสโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะ “ตะแคงข้าง” ซึ่งต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ

ที่ผ่านมีเพียงยานวอยเอเจอร์ 2 ลำเดียวที่เคยสำรวจโดยการบินผ่านดาวยูเรนัส นักดาราศาสตร์จึงต้องอาศัยข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เช่น ฮับเบิล หรือจันทรา ในการศึกษาดาวเคราะห์ยักษ์น้ำแข็งดวงนี้ ซึ่งล่าสุดจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราที่ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2560 แสดงให้เห็นรังสีเอกซ์บนดาวยูเรนัส (สีชมพู) แล้วนำมารวมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน Keck-I ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ที่ถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2547  

นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า การแผ่รังสีเอกซ์ของดาวยูเรนัสเกิดจากการกระเจิงแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ ซึ่งพบในดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์เช่นเดียวกัน คล้ายกับการที่ชั้นบรรยากาศโลกกระเจิงแสงจากดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ยังพบว่า อาจมีแแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์อื่นอีกที่ไม่ใด้เกิดจากการกระเจิงแสงดวงอาทิตย์เพียงอย่างเดียว 

นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า วงแหวนของยูเรนัสอาจปลดปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาได้เอง เกิดจากอนุภาคที่มีประจุในอวกาศพุ่งชนกับวงแหวน แล้วเปล่งแสงรังสีเอกซ์ออกมา   (คล้ายกับกรณีของดาวเสาร์) หรืออาจเป็นแสงออโรราของดาวยูเรนัสที่เกิดจากอนุภาคที่มีประจุวิ่งตามเส้นสนามแม่เหล็กดาวยูเรนัส พุ่งเข้าชนชั้นบรรยากาศ ทำให้เปล่งรังสีเอกซ์ออกมา (คล้ายกับออโรราบนโลก)

นอกจากโลกแล้ว ดาวพฤหัสบดีก็มีแสงออโรราด้วยเช่นกัน ซึ่งก็เกิดขึ้นจากอนุภาคที่มีประจุพุ่งชนชั้นบรรยากาศบริเวณขั้วสนามแม่เหล็กของดาว   อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลักฐานยังไม่เพียงพอ นักดาราศาสตร์จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าดาวยูเรนัสจะเกิดแสงออโรราขึ้นได้อย่างไร  ดาวยูเรนัสจึงเป็นอีกเป้าหมายที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับการศึกษาในช่วงคลื่นรังสีเอกซ์ อีกทั้งยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีแกนเอียงและขั้วสนามแม่เหล็กแตกต่างไปจากดาวเคราะห์ดวงอื่นอย่างมากอาจมีผลกับการแผ่รังสีที่เกิด ซึ่งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราจะช่วยให้นักดาราศาสตร์ไขปริศนาการแผ่รังสีเอกซ์ และไขปริศนาเกี่ยวกับดาวเคราะห์ยักษ์น้ำแข็งดวงนี้ต่อไป

 

เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

อ้างอิง :

[1] https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1029/2020JA028739

[2] https://www.nasa.gov/mission_pages/chandra/images/first-x-rays-from-uranus-discovered.html

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4759