ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินข่าวเกี่ยวกับดาวฤกษ์บีเทลจุส (Betelgeuse) ที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างต่อเนื่อง จนสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ข่าวนี้สร้างความฮือฮาอย่างมากต่อวงการดาราศาสตร์ เพราะอาจเกิดจากการยุบขยายของผิวดาว ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงชะตากรรมสุดท้ายของดาวบีเทลจุส ที่จะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา ทำให้ดาวบีเทลจุสจะส่องสว่างไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของดวงจันทร์เต็มดวง ทำให้ท้องฟ้ายามค่ำคืนสว่างไปได้อีกหลายวัน ก่อนที่จะจางหายไปตลอดกาล
ภาพจากกล้อง Very Large Telescope แสดงความสว่างของดาวบีเทลจุส ที่ใช้ดีพิมพ์ในวารสาร Nature
ล่าสุดงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Nature [1] เผยผลการศึกษาพฤติกรรมดาวบีเทลจุสในช่วงที่แสงสว่างลดลง ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ในประเทศชิลี พบว่าการเปลี่ยนแปลงความสว่างของดาวบีเทลจุส ไม่ได้เกิดขึ้นจากการแปรแสงจากตัวมันเอง แต่กลับเป็นผลจากแก็สร้อนขนาดมหึมาที่ปะทุออกมาจากดาวบีเทลจุส เกิดเย็นตัวลง และกลายเป็นฝุ่นมาบดบังดาว ทำให้ดาวบีเทลจุสมีความสว่างลดลง
นักดาราศาสตร์ยังให้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงชีวิตดาวฤกษ์ที่เป็นดาวยักษ์แดงอายุมาก จะมีอัตราการปะทุและสูญเสียมวลดาวค่อนข้างสูงก่อนจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา แต่สำหรับดาวบีเทลจุส ยังถือเป็นดาวดาวยักษ์แดงอายุน้อย จึงไม่น่าจะมีโอกาสที่เราจะได้เห็นมันระเบิดและหายจากกลุ่มดาวนายพรานในช่วงชีวิตเราอย่างแน่นอน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะทำให้เราพลาดโอกาสในการชมความมหัศจรรย์ที่หาได้ยากมากของดาวฤกษ์บนท้องฟ้า แต่มันก็ทำให้นักดาราศาสตร์มีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของดาวฤกษ์ในช่วงวิวัฒนาการเป็นดาวยักษ์แดงได้อย่างละเอียดมากขึ้น เป็นข้อมูลสำคัญในการอธิบายวิวัฒนาการและพฤติกรรมในแต่ละช่วงชีวิตของดาวฤกษ์อื่น ๆ ในอนาคต
อ้างอิง :
[1] https://www.nature.com/articles/s41586-021-03546-8
[2] https://www.universetoday.com/151612/betelgeuses-mysterious-dimming-solved-it-was-dust/#more-151612
[3] https://www.bbc.com/news/science-environment-57501416
เรียบเรียง : เจษฎา กีรติภารัตน์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร.