ดาวหาง C/2014 UN271 ค้นพบในปี พ.ศ. 2557 โดยนักดาราศาสตร์ 2 คน ได้แก่ Pedro Bernardinelli และ Gary Bernstein เป็นดาวหางที่เดินทางมาจากชายขอบของระบบสุริยะที่เรียกว่า “เมฆออร์ต” ขณะนี้กำลังโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์โดยมีระยะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดที่บริเวณวงโคจรของดาวเสาร์ คาดว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 160 กิโลเมตร ถือว่าเป็นดาวหางจากเมฆออร์ตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ
ภาพถ่าย ดาวหาง C/2014 UN271 โดย Dark Energy Survey
C/2014 UN271 เป็นดาวหางคาบยาว เดินทางมาจากส่วนลึกของเมฆออร์ตที่เต็มไปด้วยวัตถุที่ก่อตัวพร้อมกับระบบสุริยะแต่ไม่สามารถวิวัฒนาการเป็นดาวเคราะห์ได้ ตอนนี้กำลังโคจรโดยมีทิศทางพุ่งเข้ามายังระบบสุริยะชั้นใน จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในปี พ.ศ. 2574 โดยมีระยะห่างประมาณ 1,600 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณวงโคจรของดาวเสาร์ คาดว่าจะมีค่าอันดับความสว่างปรากฏช่วงเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดประมาณ 20 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากโลก
C/2014 UN271 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ประมาณ 160 กิโลเมตร ถือว่าเป็นดาวหางที่ใหญ่ที่สุดที่มาจากขอบนอกของระบบสุริยะ ในอดีตมีดาวหางขนาดใหญ่ที่มาจากเมฆออร์ต ได้แก่ ดาวหาง C/1995 O1 หรือ Hale-Bopp มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 กิโลเมตร และดาวหาง C/1729 P1 มีเส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 100 กิโลเมตร
https://en.wikipedia.org/wiki/C/2014_UN271_(Bernardinelli-Bernstein)#/media/File:2014_UN271.jpg
สามารถดูข้อมูลวงโคจรของดาวหางเพิ่มเติมได้ที่
https://ssd.jpl.nasa.gov/sbdb.cgi?sstr=54161348;orb=1;cov=0;log=0;cad=0
สองนักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหาง C/2014 UN271 จากโครงการ Dark Energy Survey (DES) มีวัตถุประสงค์ศึกษาวิจัยการขยายตัวของเอกภพ ซึ่งการค้นพบดาวหางหรือวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะเกิดเป็นผลพลอยได้ที่ได้จากการสำรวจท้องฟ้าของโครงการดังกล่าว ผลการค้นพบรายงานไปยัง Minor Planet Center จากนั้นจึงมีการติดตามโดยหอดูดาวที่กระจายอยู่ทั่วโลก ผลการสังเกตการณ์จากทั่วโลกจะเป็นตัวช่วยในการยืนยันการค้นพบ
เรียบเรียง : สิทธิพร เดือนตะคุ
อ้างอิง
2.www.skyandtelescope.org/astronomy-news/giant-oort-cloud-comet-lights-up-in-the-outer-solar-system/
3.www.earthsky.org/space/2014-un271-mega-comet-discovery