กระบวนการเก็บตัวอย่างหินดาวอังคารของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อวันพุธที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เมื่ออุปกรณ์ขุดเจาะหินที่ปลายแขนกลของรถสำรวจขุดเจาะก้อนหินที่เรียกว่า “Rochette” แต่ท้ายสุดแล้วทางทีมรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ก็ไม่สามารถยืนยันการมีอยู่ของตัวอย่างหินภายในหลอดได้ ล่าสุด ภาพชุดใหม่นี้ก็สามารถยืนยันการเก็บตัวอย่างหินได้สำเร็จ และตัวอย่างก็มีอยู่จริง ๆ นะครับ #ปรบมือ
ขณะนี้ตัวอย่างหินได้ถูกเก็บไว้ในหลอดไทเทเนียมซึ่งอยู่ในสภาพสุญญากาศ เพื่อรักษาคุณค่าทางวิทยาศาสตร์เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เตรียมพร้อมสำหรับภารกิจในอนาคตที่เรียกว่า Mars Sample Return ซึ่งเป็นภารกิจที่จะนำหลอดตัวอย่างของรถสำรวจกลับมายังโลก ตัวอย่างนี้ได้รับการยืนยันว่าเป็นตัวอย่างแรกเรียบร้อยแล้ว ภาพหลอดเก็บตัวอย่างทั้ง 2 ภาพ ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพของระบบเก็บและบรรจุตัวอย่าง (CacheCam) ซึ่งเป็นกล้องที่ติดตั้งอยู่ภายในตัวรถสำรวจโดยหันหน้ากล้องไปที่ด้านบนของหลอดเก็บตัวอย่างเพื่อถ่ายภาพระยะใกล้ของตัวอย่างหิน รวมถึงหลอดเก็บขณะเตรียมปิดผนึกและจัดเก็บ
เมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลา 11:34 น. ตามเวลาประเทศไทย รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ได้รถ่ายโอนหมายเลขลำดับของหลอดตัวอย่างหมายเลข 266 พร้อมส่งตัวอย่างหินไปยังภายในรถสำรวจเพื่อวัดและถ่ายภาพตัวอย่างหิน จากนั้นได้ปิดผนึกหลอดเก็บตัวอย่างให้แน่นหนา ถ่ายภาพไว้อีกสักรูปหนึ่ง และเก็บหลอดไว้
ภารกิจของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์เป็นการศึกษาพื้นที่บริเวณหลุมอุกกาบาตเจเซโร (Jezero Crater) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรณีวิทยาและความเป็นมาในสมัยดึกดำบรรพ์ของพื้นที่แห่งนี้ ตลอดจนการอธิบายลักษณะของภูมิอากาศในอดีต โดยมีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการระบุชนิดของหินและเก็บรวบรวมตัวอย่างหินบนพื้นผิวดาวอังคาร พร้อมกับการค้นหาสัญญาณบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตด้วยกล้องจุลทรรศน์
รถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์กำลังสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า “Artuby” ซึ่งเป็นแนวสันเขายาวกว่า 900 เมตร โดยจะใช้เวลาอีกหลายร้อยวันบนดาวอังคารบริเวณนี้ เพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางเป็นระยะทางราว 2.5 ถึง 5 กิโลเมตร และอาจเก็บตัวอย่างหินได้มากถึง 8 หลอดจากทั้งหมด 43 หลอด
หลังจากนั้นรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์จะเดินทางขึ้นไปทางเหนือและทางตะวันตก เพื่อไปยังตำแหน่งต่อไปที่จะสำรวจ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่าที่ขอบหลุมอุกกาบาตเจเซโร ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำดึกดำบรรพ์มาบรรจบกับทะเลสาบภายในหลุมอุกกาบาต พื้นที่ตรงนี้อาจอุดมไปด้วยแร่ธาตุดินเหนียว ซึ่งคาดว่าแร่ธาตุดังกล่าวจะสามารถรักษาร่องรอยของจุลชีพยุคโบราณและบ่งชี้ถึงกระบวนการทางชีววิทยาอีกด้วย
เรียบเรียง : ธราดล ชูแก้ว เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
ที่มา :
[1] https://www.nasa.gov/press-release/nasa-s-perseverance-rover-collects-first-mars-rock-sample