ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศปกคลุมหนาแน่นมาก ส่งผลให้ทั้งกล้องโทรทรรศน์บนโลกและยานอวกาศที่เดินทางไปสำรวจไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวของดาวศุกร์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นได้เลย แต่ล่าสุดยาน Parker Solar Probe ใช้กล้อง Wide-Field Imager ที่ครอบคลุมทั้งช่วงคลื่นที่ตามนุษย์มองเห็นและช่วงคลื่นอินฟาเรด ซึ่งเมื่อนำมาภาพมาวิเคราะห์รวมกันเป็น Time-Lapse แสดงให้เห็นภาพพื้นผิวดาวศุกร์ ที่บ่งบอกถึงลักษณะเด่นทางกายภาพ ทั้งพื้นที่ราบและเนินเขา
ภาพเปรียบเทียบดาวศุกร์จากคลื่นแสงที่ตามองเห็นและคลื่นอินฟราเรด
ซ้าย : ภาพพื้นผิวดาวศุกร์ในช่วงคลื่นที่ตามองเห็นจากยาน Parker Solar Probe ขององค์การนาซา
ขวา : ภาพดาวศุกร์ในช่วงคลื่นอินฟราเรดจากยาน Magellan ขององค์การนาซา
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของยาน Parker Solar Probe จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบข้อมูลเชิงลึกด้านธรณีวิทยา แร่ธาตุบนพื้นผิวดาวศุกร์ ตลอดจนวิวัฒนาการของดาวศุกร์ แม้ว่าจะได้ฉายาว่าเป็นฝาแฝดของโลก แต่เหตุใดสภาพอากาศบนดาวศุกร์จึงเลวร้ายกว่าบนโลกหลายเท่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าข้อมูลจากภาพถ่ายดาวศุกร์อย่างเช่นครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับดาวศุกร์
ดาวศุกร์จัดเป็นวัตถุท้องฟ้าที่สว่างที่สุดเป็นอันดับสามบนท้องฟ้า (ถัดจากดวงอาทิตย์และดวงจันทร์) แต่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะระบุหรือบ่งบอกได้ว่าสภาพพื้นผิวดาวศุกร์นั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากถูกบดบังด้วยชั้นบรรยากาศที่มีความหนาแน่นมากกว่าชั้นบรรยากาศของโลก 90 เท่า
นอกจากนี้ ภาพจากยาน Parker Solar Probe ทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจลักษณะทางธรณีวิทยาและธาตุองค์ประกอบของดาวศุกร์ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการนำภาพถ่ายจากภารกิจสำรวจดาวศุกร์ในอดีตมาวิเคราะห์รวมกัน ทำให้ได้ข้อมูลศุกร์ที่ครอบคลุมช่วงความยาวคลื่นได้กว้างกว่าเดิม สามารถระบุธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่บนพื้นผิวดาวศุกร์ได้ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคดังกล่าวเคยถูกใช้ในการศึกษาพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนหน้านี้ และคาดว่าในอนาคตจะมีการขยายช่วงความยาวคลื่นเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจสภาพอากาศและลักษณะภูมิประเทศของดาวศุกร์ได้ดียิ่งขึ้น
ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร จัดเป็นดาวเคราะห์หินที่เริ่มก่อตัวในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันกับคุณสมบัติที่มีความแตกต่างกันมาก เช่น ดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นเพียง 1% ของโลกเท่านั้น ขณะที่ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่หนาแน่นมากกว่าโลกถึง 90 เท่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าภูเขาไฟบนดาวศุกร์น่าจะเป็นสาเหตุหลักของชั้นแก๊สอันหนาแน่นนี้ และข้อมูลภาพถ่ายจากยาน Parker Solar Probe อาจช่วยพิสูจน์สมมติฐานนี้ได้
แท้จริงแล้วภารกิจหลักของ ยาน Parker Solar Probe คือการสำรวจและศึกษาดวงอาทิตย์ แต่การที่ยานเคลื่อนที่โฉบดาวศุกร์ครั้งนี้ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาวศุกร์มากขึ้น นอกจากนี้ยังถ่ายภาพแนวฝุ่นที่มีวงโคจรซ้อนกับดาวศุกร์ ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กกระจายอยู่ตามวงโคจรดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์คล้ายโดนัท และอุปกรณ์ FIELDS ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับวัดสนามแม่เหล็กในบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ ได้ลองวัดคลื่นวิทยุในชั้นบรรยากาศดาวศุกร์ ซึ่งพบว่าบรรยากาศชั้นบนสุดของดาวศุกร์ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัฏจักรสุริยะ (Solar Cycle)
ขณะที่ภารกิจสำรวจดาวศุกร์ในอนาคตยาน Parker Solar Probe เคลื่อนที่โฉบดวงอาทิตย์รอบหน้าในช่วงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.2566 นักวิทยาศาสตร์มีแผนจะไม่ถ่ายภาพดาวศุกร์ เนื่องจากเป็นช่วงกลางคืนบนดาวศุกร์พอดี แต่จะใช้อุปกร์อย่างอื่นในศึกษาอวกาศรอบ ๆ ดาวศุกร์แทน และจนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 จะเป็นการบินเฉียดดาวศุกร์ครั้งที่ 7 และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่ยานจะปรับวงโคจรเพื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ต่อไป
อ้างอิง:
เรียบเรียง : นายกฤษณะ ล่ามสมบัติ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.