รูปที่ 1 ภาพจำลองกล้องโทรทรรศน์ไจแอนท์แมกเจลแลน (Giant Magellan Telescope: GMT)
กล้องจีเอ็มที ตั้งอยู่ที่หอดูดาวลัส กัมปานัส ในทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี กระจกปฐมภูมิประกอบด้วยกระจกแผ่นกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.4 เมตร จำนวน 7 บานวางเรียงกัน หรือเทียบเท่ากับกระจกเดี่ยวเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 เมตร ซึ่งติดตั้งบนฐานกล้องโทรทรรศน์หนัก 1,000 ตัน ภายในอาคารหอดูดาวสูง 22 ชั้นและกว้างใหญ่ถึง 56 เมตร
รูปที่ 2 ภาพเปรียบเทียบขนาดกระจกปฐมภูมิของกล้องโทรทรรศน์ทางแสง
นอกจากกระจกขนาดใหญ่ที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาวัตถุท้องฟ้าได้ห่างไกลและละเอียดมากยิ่งขึ้นแล้ว กล้องโทรทรรศน์จีเอ็มทียังถูกติดตั้งระบบ Adaptive optic ในการตรวจวัดและปรับระนาบกระจกตามการสั่นไหวของบรรยากาศโลกที่ช่วยเพิ่มคุณภาพข้อมูลของแสงดาวขณะช่วงเวลานั้น ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้กล้องโทรทรรศน์จีเอ็มทีมีประสิทธิภาพมากกว่ากล้องโทรรทัศน์อวกาศฮับเบิลถึง 10 เท่า และมีความละเอียดสูงกว่ากล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินหลายๆที่บนโลก
กล้องโทรทรรศน์จีเอ็มที เป็นโครงการความร่วมมือทางดาราศาสตร์ที่นำโดยสหรัฐฯ ร่วมกับออสเตรเลีย บราซิล เกาหลีใต้ และชิลี มีภารกิจหลักในการศึกษากาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล รวมไปถึงการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เคยตรวจพบจากยานอวกาศเคปเลอร์ (Kepler Space Telescope) ที่ส่งขึ้นอวกาศปี 2552 โดยกล้องโทรทรรศน์จีเอ็มทีจะทำการตรวจหาร่องรอยของการเกิดสิ่งมีชีวิตจากแก็สออกซิเจนและมีเทนในชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขณะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ เพื่อค้นหาคำตอบว่า มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเดียวในเอกภพหรือป่าว หรืออย่างน้อย พอจะมีสถานที่ที่เอื้อให้เกิดสิ่งมีชีวิตนอกจากโลกหรือไม่
อ้างอิง
[1] https://www.sciencealert.com/a-1-billion-telescope-that-will-take-pictures-10x-sharper-than-hubble-s-is-now-officially-under-construction?perpetual=yes&limitstart=1
[2] https://www.space.com/41532-giant-magellan-telescope-hard-rock-excavation.html
เรียบเรียง
นายเจษฎา กีรติภารัตน์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์