ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ตามเวลาของประเทศไทย ลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ( ISS) ได้ซ่อมแซมบริเวณที่มีรูรั่วบนยานโซยูสที่เชื่อมกับสถานี ด้วยการยาแนวเพื่ออุดรูรั่วแบบชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว แต่วิศวกรที่ศูนย์ควบคุมจากภาคพื้นดินกำลังเร่งหาทางแก้ไขแบบถาวรอยู่


ภาพจำลองสถานีอวกาศนานาชาติ พร้อมกับยานโซยูส MS-09 ลำที่มีรูรั่ว

        ลูกเรือทั้ง 6 ในสถานีอวกาศทราบเรื่องว่ามีรูรั่วอยู่บนสถานีตั้งแต่เวลา 23:00 น. ตามเวลาของสถานีอวกาศ (ช้ากว่าไทย 7 ชั่วโมง) แต่เนื่องจากรูรั่วในครั้งนี้ยังไม่เป็นภัยต่อชีวิตของลูกเรือ ทางศูนย์ควบคุมก็เลยอนุญาตให้พวกเขาเข้านอนได้ตามกำหนดการณ์ปกติ

        เมื่อตื่นนอนแล้ว พวกเขาต้องตามหารูรั่วให้เจอ จนพบว่ามันอยู่ในยานโซยูส MS-09 ที่เดินทางมายังสถานีอวกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยรูรั่วนั้นมีอย่างน้อย 2 รอย กว้าง 2 มิลลิเมตร 

        เมื่อลูกเรือสามารถระบุตำแหน่งของรูรั่วได้แล้วนั้น Sergey Prokopyev นักบินอวกาศชาวรัสเซียได้ใช้ผ้าก๊อซจุ่มกาว อีพอกซี (Epoxy) เพื่อทำการปิดรูรั่วแบบชั่วคราวไว้ก่อนช่วยให้ความดันภายในสถานีอวกาศคงที่ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา เมื่อมีฟองอากาศปรากฏขึ้นในบริเวณที่ทำการอุดปิดรูรั่วไป ศูนย์ควบคุมภาคพื้นได้ให้ลูกเรือพักผ่อนเสียก่อน และจะกลับมาซ่อมบำรุงอย่างจริงจังต่อในวันพรุ่งนี้ (ช่วงเย็นของวันที่ 31 สิงหาคม ตามเวลาไทย) โดยระหว่างที่รออยู่นั้นศูนย์ควบคุมจะทำการตรวจสอบภาพถ่ายที่ลูกเรือส่งลงมาอย่างละเอียด เพื่อดูว่าพวกเขาสามารถทำอะไรกับปัญหาฟองอากาศนี้ได้บ้าง

        ต้นตอของปัญหานั้นยังไม่มีข้อสรุปว่าเกิดจากอะไร แต่เบื้องต้นคาดการณ์กันว่าเกิดมาจากอุกกาบาตขนาดเล็กและขยะอวกาศที่พุ่งเข้าชนด้วยความเร็วสูง โดยสถานีอวกาศนานาชาตินั้นต้องรับมือกับปัญหาขยะอวกาศมาหลายครั้งแล้ว และเคยมีการปรับวงโคจรเพื่อหลบหลีกขยะอวกาศอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งมีการติดตั้งแผ่นป้องกันอุกกาบาตและขยะอวกาศที่อาจะพุ่งชนกับตัวสถานีมาแล้ว แต่ในยานโซยูสที่เชื่อมต่อนั้นไม่มีแผ่นป้องกัน

        ในตอนนี้ลูกเรือได้ใช้ออกซิเจนจากยานขนส่งเสบียง Progress-70 เพื่อช่วยรักษาความดันในสถานี แต่สถานการณ์โดยรวมไม่ถึงขั้นอันตรายต่อลูกเรือ เนื่องจากพวกเขามีปริมาณออกซิเจนสำรองเพียงพอสำหรับใช้ได้หลายอาทิตย์ รวมทั้งยังมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจากศูนย์ควบคุมภาคพื้นอีกด้วย 

        ปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุดก็คือการนำยานโซยูสกลับโลก เพราะยานมีกำหนดพาลูกเรือ 3 คนจากสถานีอวกาศกลับสู่โลกในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่เนื่องจากยานส่วนที่มีปัญหานั้นจะถูกปลดทิ้งก่อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว หากความเสียหายไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของลูกเรือมากนักก็อาจจะไม่มีปัญหาในการให้ยานเดินทางกลับโลกได้

 

เรียบเรียงโดย 
กรทอง วิริยะเศวตกุล
( สอบเทียบวุฒิ GED ม.6 ปัจจุบันกำลังเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย ) 

บรรณาธิการ
อาจวรงค์ จันทมาศ  ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาราศาสตร์

อ้างอิง
https://blogs.nasa.gov/spacestation/2018/08/30/international-space-station-status-3/

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 2341