องค์การบริหารการบินและอวกาศหรือนาซา ส่งดาวเทียมสำรวจธารน้ำแข็ง ICEsat-2 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561 เวลา 17:46  ที่ผ่านมา (ตามเวลาในประเทศไทย) สำหรับภารกิจสำรวจและเก็บข้อมูลปริมาณการละลายของธารน้ำแข็งบนพื้นโลก เพื่อทำนายอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในมหาสมุทร ที่มีสาเหตุหลักจากสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

รูปที่ 1 ภาพการส่งดาวเทียม ICEsat-2 ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2561 ทีผ่านมา

        ICEsat-2 มีหน้าที่สานต่อภารกิจของดาวเทียม ICEsat ที่ใช้สำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2546 - 2552 ซึ่งข้อมูลเดิมจากดาวเทียม ICEsat ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจกับปริมาณธารน้ำแข็งขั้วโลกที่มีขนาดบางลงมาก รวมไปถึงชายฝั่งของเกาะกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกาที่ละลายหายไปจนน่าตกใจ การละลายของน้ำแข็งส่งผลให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศในแถบชายฝั่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมจนอาจหายไปจากแผนที่โลกได้

        ปัจจุบัน ข้อมูลที่มีอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้ทำนายอัตราการละลายของน้ำแข็งในอนาคต เนื่องจากกิจวัตรของมนุษย์ปัจจุบันยังมีการใช้พลังงานหรือเชื้อเพลิงจนทำให้ระดับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนั้นอยู่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความร้อนทั่วโลกเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2558-2561 เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ดังนั้นดาวเทียม ICEsat-2 ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ติดตามและตรวจวัดความหนาของธารน้ำแข็งได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำนาย วางแผน ป้องกัน หรือรับมือสภาวะที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปที่ 2 ภาพกราฟฟิกแสดงการทำงานของดาวเทียม ICEsta-2 [Credit ภาพ: AFP/NASA]

        ดาวเทียม ICEsat-2 จะใช้เทคนิคการวัดพื้นที่และความหนาของชั้นธารน้ำแข็งวิธีเดียวกับรุ่นก่อนหน้า ด้วยการยิงลำแสงเลเซอร์ความถี่สูงถึง 1,000 ครั้งต่อวินาที (ICEsat มีความถี่การยิงแสงเลเซอร์ 40 ครั้งต่อวินาที) ที่ความสูงของวงโคจร 500 กิโลเมตรจากพื้นดิน ซึ่งจะวัดขนาดของแผ่นธารน้ำแข็งได้อย่างต่อเนื่องที่ระยะทุกๆ 0.7 เมตร ตามแนวการเคลื่อนที่ของดาวเทียม และวัดความหนาของชั้นน้ำแข็งคลาคเคลื่อนไม่เกิน 4 มิลลิเมตร เบื้องต้นนักวิทยาศาสตร์วางแผนโครงการสำรวจปริมาณธารน้ำแข็ง อย่างน้อย 3  ปี และหากไม่มีปัญหาขัดข้องก็อาจใช้งานได้ต่อเนื่องนานถึง 10 ปี 

        โครงการ ICEsat-2 ที่เกิดขึ้นถือเป็นก้าวหนึ่งของการพัฒนาเทคโลโนยีขั้นสูงเพื่อศึกษาและรับมือต่อผลกระทบทางธรรมชาติต่างๆที่อาจส่งผลต่อมนุษย์ในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี ภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก เราทุกคนสามารถมีส่วนในการร่วมแก้ปัญหาได้ ด้วยการตระหนักและลดการใช้พลังงานที่ฟุ่มเฟือย ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนที่สุด

รูปที่ 3 กราฟแสดงปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ที่เพิ่มขึ้นต่อปี ในช่วงปี ค.ศ.2014-2018 [Credit ภาพ: NOAA] 

 

อ้างอิง
https://phys.org/news/2018-09-nasa-space-lasers-reveal-depths.html
https://phys.org/news/2018-09-nasa-blasts-space-laser-satellite.html
https://www.bbc.com/news/science-environment-45523677
http://www.desdemonadespair.net/2018/02/january-2018-continued-record-breaking.html 

เรียบเรียง 
นายเจษฎา กีรติภารัตน์

เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4885