ภาพจำลองของยานวอยเอเจอร์ 2 ในชั้น Heliosheath และวอยเอเจอร์ 1 ในที่ว่างระหว่างดาวฤกษ์
อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณรังสีคอสมิกบนยานวอนเอเจอร์ 2 ซึ่งเป็น 2 ใน 5 อุปกรณ์สุดท้ายบนยานที่ยังเปิดใช้งานอยู่ แสดงให้เห็นการเพิ่มขึ้นของรังสีคอสมิกซึ่งมีที่มาจากนอกระบบสุริยะด้วยปริมาณที่คล้ายคลึงกับที่ยานวอยเอเจอร์ 1 เคยพบ ไม่กี่เดือนก่อนที่มันจะออกจากระบบสุริยะไป
ในระบบสุริยะของเรา มีลมสุริยะที่พุ่งออกจากดวงอาทิตย์ออกไปโดยรอบ ซึ่งยิ่งไกลออกไปจากดวงอาทิตย์มากเท่าไหร่ ความเร็วของอนุภาคเหล่านี้ก็จะค่อยๆลดลง และเมื่อปะทะเข้ากับรังสีคอสมิกและสมจากดาวฤกษ์อื่นๆ ก็ทำให้อาณาเขตที่ลมสุริยะไปสิ้นสุดที่ Heliopause และเมื่อพ้นไปแล้วก็จะเป็นช่องว่างระหว่างดวงดาว หรือ Interstellar Space นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากดวงอาทิตย์ของเราก็มี “อารมณ์แปรปรวน” ซึ่งอาจส่งผลต่อลมสุริยะและขอบเขตของระบบสุริยะได้
Ed Stone นักวิทยาศาสตร์ในภารกิจวอยเอเจอร์ได้กล่าวไว้ว่า “เราพบความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโดยรอบวอยเอเจอร์ 2 จริง และเราจะได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างในช่วงนี้ แต่เรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ยานจะไปถึง Heliopause และสิ่งเดียวที่ผมยืนยันได้ก็คือ ตอนนี้เรายังไปไม่ถึง”
วอยเอเจอร์ 2 นั้นเป็นยานอวกาศลำแรกในโครงการวอยเอเจอร์ที่ถูกปล่อย แต่เนื่องจากมันถูกส่งไปในวงโคจรที่อ้อมกว่าวอยเอเจอร์ 1 ทำให้ยานเดินทางไปถึงดาวพฤหัสและดาวเสาร์ช้ากว่า แต่ก็ทำให้มันสามารถเดินทางไปสำรวจดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนต่อได้ และก็ยังคงเดินทางต่อด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งเร็วมากพอที่จะเดินทางออกจากระบบสุริยะได้
ในปัจจุบันวอยเอเจอร์ 2 อยู่ห่างจากโลกไป 118 หน่วยดาราศาสตร์ หรือ 118 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์ และยังติดต่อกับโลกได้อย่างปกติ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าอย่างน้อยๆมันจะมีพลังงานเหลือเพียงพอถึง ค.ศ. 2025 เลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย
กรทอง วิริยะเศวตกุล
( ศึกษาอยู่ปีที่ 1 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ )
บรรณาธิการ
อาจวรงค์ จันทมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารดาราศาสตร์
อ้างอิง
https://www.nasa.gov/feature/jpl/nasa-voyager-2-could-be-nearing-interstellar-space
https://www.sciencealert.com/voyager-2-nasa-spacecraft-about-to-enter-interstellar-space-heliopause-cosmic-rays