เมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 2023 Minor Planet Center เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ขณะนี้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารรวมทั้งสิ้น 92 ดวง แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง ทวงตำแหน่งดาวเคราะห์ที่มีจำนวนดวงจันทร์เยอะที่สุดในระบบสุริยะกลับคืนอีกครั้ง
ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 5 และจัดเป็นดาวเคราะห์แก๊สที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีดวงจันทร์ขนาดใหญ่ที่สุดจำนวน 4 ดวง เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean Moons) เนื่องจากกาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลี เป็นคนแรกที่ค้นพบดวงจันทร์เหล่านี้ เมื่อปี ค.ศ. 1610 (และเป็นหลักฐานครั้งแรก ๆ ที่ยืนยันว่า โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล)
ต่อมา เมื่อเทคโนโลยีทางดาราศาสตร์พัฒนามากขึ้น กล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ศึกษาวัตถุท้องฟ้าก็มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์ขนาดเล็กที่อยู่รอบ ๆ ดาวพฤหัสบดีอีกมากมาย ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้นำทีมโดย Scott Sheppard นักดาราศาสตร์จาก Carnegie Institute for Science สหรัฐอเมริกา หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะได้เยอะที่สุด สามารถค้นพบดวงจันทร์บริวารขนาดเล็กของดาวพฤหัสบดีได้เพิ่มเติมอีก 12 ดวง
ดวงจันทร์จำนวน 9 ดวงจาก 12 ดวงที่ค้นพบในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรบริเวณไกลสุดของกลุ่มดวงจันทร์ทั้งหมด มีคาบการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมากกว่า 550 วัน มีทิศทางการโคจรแบบ Retrograde ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี และตรงข้ามกับดวงจันทร์กลุ่มหลัก นักดาราศาสตร์คาดว่ากลุ่มดวงจันทร์เหล่านี้ อาจเกิดจากวัตถุขนาดเล็กในอวกาศ ที่ถูกแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดาวพฤหัสบดีดึงดูดเอาไว้ให้กลายเป็นดาวบริวาร ส่วนใหญ่เป็นวัตถุขนาดความกว้างไม่เกิน 8 กิโลเมตร
ขณะที่ดวงจันทร์อีก 3 ดวงที่ค้นพบเพิ่มในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรถัดไปจากกลุ่มดวงจันทร์ของกาลิเลโอเล็กน้อย มีทิศทางการโคจรแบบ Prograde หรือทิศทางเดียวกันกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี ดวงจันทร์กลุ่มนี้คาดว่าจะก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่ค้นพบได้ยากกว่า เนื่องจากมีวงโคจรที่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี แสงสว่างจากดาวพฤหัสบดีจะกระเจิงออกมาจนบดบังแสงของวัตถุขนาดเล็กเหล่านี้ไปจนหมด ทำให้ดาวบริวารขนาดเล็กส่วนใหญ่จะค้นพบที่ระยะห่างไกลออกมาจากดาวพฤหัสบดีค่อนข้างมาก
ใครที่ติดตามข่าวสารการค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะ หรือค้นพบดวงจันทร์ของดาวเคราะห์แก๊สใหม่ ๆ มักจะได้ยินชื่อ Scott Sheppard อยู่เสมอ หากรวมการค้นพบในครั้งนี้ด้วยแล้ว Scott Sheppard มีส่วนร่วมในการค้นพบวัตถุใหม่ในระบบสุริยะแล้วจำนวนมากมาย ได้แก่ ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี 85 ดวง ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 45 ดวง ดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสและเนปจูน 3 ดวง วัตถุจำพวก Minor Planet หรือวัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อีกจำนวน 26 ดวง ดาวหางจำนวน 7 ดวง และวัตถุอื่น ๆ รวมแล้วเกือบ 200 วัตถุ [2][3] นับเป็นหนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อวงการดาราศาสตร์ในระบบสุริยะเป็นอย่างมาก
อ้างอิง :
[1] https://skyandtelescope.org/astronomy-news/astronomers-find-a-dozen-more-moons-for-jupiter/
[2] https://sites.google.com/carnegiescience.edu/sheppard/home/discoveries?authuser=0
[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Scott_S._Sheppard
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.