“อวกาศ” เปรียบเสมือนน่านน้ำสากลที่ใหญ่ที่สุด ที่ปัจจุบันมีการส่งดาวเทียมและยานอวกาศจากนานาประเทศทั่วโลก เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านการสำรวจทรัพยากร การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ของโลก การติดต่อสื่อสารทางไกล ไปจนถึงด้านความมั่นคงของชาติหรือทางการทหาร ทำให้ภายในปี ค.ศ.2022 มีดาวเทียมที่ยังคงปฏิบัติภารกิจและโคจรอยู่รอบโลกมากกว่า 5,000 ดวง และด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นในทุก ๆ วัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีดาวเทียมโคจรอยู่รอบโลกมากถึง 60,000 ดวง
อย่างไรก็ดี แม้จำนวนดาวเทียมที่มากขึ้น อาจสื่อถึงความเจริญทางเทคโนโลยีก็จริง แต่ปัญหาใหญ่ที่กำลังจะตามมาในไม่ช้าก็คือ “ขยะอวกาศ” ที่เกิดจากดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานไปแล้ว ซึ่งดาวเทียม 1 ดวงไม่ได้กลายเป็นขยะอวกาศแค่ 1 ชิ้น หากปล่อยทิ้งไว้ในวงโคจรรอบโลก มันมีโอกาสที่จะถูกชนเข้ากับวัตถุขนาดเล็กในอวกาศอื่น ๆ รวมไปถึงชนกันเองกับดาวเทียมดวงอื่น ๆ ทำให้จากขยะเพียงชิ้นเดียว ก็กลายเป็นกลุ่มฝูงขยะจำนวนนับไม่ถ้วนที่โคจรอยู่รอบโลกต่อไป และทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสในการไปชนเข้ากับดาวเทียมดวงอื่น ๆ มากขึ้นไปอีก โดยจากการประเมินในปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์คาดว่าน่าจะมีขยะอวกาศที่ไม่สามารถติดตามได้มากถึง 100 ล้านล้านชิ้นอยู่รอบโลก และจะยิ่งทวีคูณเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการกำหนดแนวทางการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการพยายามผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาในการควบคุมดาวเทียม เพื่อลดจำนวนขยะอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับสนธิสัญญาเพื่อปกป้อง High Seas หรือน่านน้ำสากล ที่กว่า 170 ประเทศจากทั่วโลกพร้อมใจกันหาข้อตกลงร่วมกันและลงมือปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดการรุกล้ำทรัพยากรธรรมชาติโดยปราศจากการควบคุม
จากบทความที่เผยแพร่ในวารสาร Science ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยหลากหลายแขนง ทั้งด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จากสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยชั้นนำในกลุ่มชาติตะวันตก ได้แก่ University of Plymouth, Arribada Initiative, University of Texas at Austin ไปจนถึงหน่วยงานด้านอวกาศชั้นนำอย่าง NASA Jet Propulsion Laboratory ที่กำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาให้เป็นไปได้ในเร็ววันนี้
ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสถาบันให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ประเด็นด้านขยะอวกาศนับเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบหาข้อตกลงร่วมกันให้เร็วที่สุด ก่อนที่ขยะอวกาศจะเพิ่มจำนวนทวีคูณมากยิ่งขึ้น และรวมถึงข้อตกลงในการปกครองวงโคจรรอบโลกด้วย
การส่งดาวเทียมหรือวัตถุใด ๆ ก็ตามไปยังวงโคจรรอบโลก ปัจจุบันผู้ผลิตและผู้พัฒนาดาวเทียมอาจคำนึงถึงแค่ความสามารถของดาวเทียมของตนเอง เช่น การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ติดไปกับดาวเทียม ระยะเวลาและความคุ้มค่าของเทคโนโลยี เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้อง “เพิ่ม” เข้าไปในข้อพิจารณาเหล่านี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาก็คือ การจัดการดาวเทียมหลังจากดาวเทียมหมดอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงต่อผู้ผลิตและพัฒนาดาวเทียม ที่จะช่วยลดโอกาสในการเพิ่มจำนวนขยะอวกาศได้ในอนาคต
เหล่าผู้เชี่ยวชาญยังให้ความเห็นเพิ่มว่า หากไม่เกิดการลงมือปฏิบัติใด ๆ ในเร็ววันนี้ วงโคจรรอบโลกของเราก็อาจเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากมวลมหาขยะอวกาศ และอาจมีชะตากรรมเช่นเดียวกันกับ High Seas หรือน่านน้ำสากลที่ปราศจากการดูแลที่ชัดเจน จนทำให้เกิดการรุกล้ำ ทั้งการทำการประมงที่มากเกินไปจนส่งผลเสียต่อห่วงโซ่อาหาร การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ การขุดเจาะทะเลลึกเพื่อค้นหาทรัพยากรต่าง ๆ ไปจนถึงปัญหาการปล่อยขยะไมโครพลาสติกลงสู่ทะเลโดยไร้การควบคุม ซึ่งที่จริงแล้วประเด็นเรื่องมลภาวะทางพลาสติกแพร่กระจายสู่มหาสมุทรนั้น ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว นั่นหมายความว่ามีผลการวิจัยที่ทราบถึงปัญหามานานมากแล้ว แต่สนธิสัญญาในการลดขยะพลาสติกนั้น เพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.2022 นี้เท่านั้นเอง จนทำให้การควบคุมและกำจัดขยะ เป็นไปด้วยความยากลำบาก
ปัญหาด้านขยะอวกาศก็เช่นกัน หากปล่อยไว้โดยปราศจากการควบคุม ปริมาณขยะก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากขยะเพียง 1 ชิ้นใหญ่ สามารถกลายไปเป็นขยะขนาดเล็กอีกหลายร้อยชิ้นที่พร้อมจะทำอันตรายต่อดาวเทียมดวงอื่น ๆ ได้อีก หากเริ่มต้นจัดการดูแลตั้งแต่ตอนนี้ การควบคุมดูแลหรือการกำจัดขยะก็อาจทำได้ง่ายกว่าตอนที่ปล่อยให้วงโคจรรอบโลกนั้น เต็มไปด้วยเศษซากทางเทคโนโลยีที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ และยังทำให้ภารกิจอวกาศไม่ว่าจะเป็นการส่งนักบินอวกาศไปนอกโลก การส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุ่นใหม่ จำเป็นต้องพบกับความเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมเช่นนี้ได้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีในการควบคุมไม่ให้ขยะอวกาศเพิ่มจำนวนไปมากกว่านี้ในอนาคต
อ้างอิง :
[1] The full article – Napper et al: Protect Earth’s orbit: Avoid high seas mistakes – is published in Science, DOI: 10.1126/science.adg8989.
[2] https://www.plymouth.ac.uk/news/scientists-call-for-global-push-to-eliminate-space-debris