วันที่ 6 เมษายน 2023 องค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA เปิดเผยภาพถ่ายดาวยูเรนัสจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) ที่ปรากฏภาพของเมฆในชั้นบรรยากาศ วงแหวนสุดคมชัดถึง 11 ชั้น และดวงจันทร์ขนาดใหญ่อีก 6 ดวง

as20230524 3 01

ภาพถ่ายสุดคมชัดของ ดาวยูเรนัส จากกล้องเจมส์ เว็บบ์

 

ภาพนี้ถ่ายโดยอุปกรณ์ NIRCam ของ JWST ซึ่งเป็นกล้องถ่ายภาพในย่านรังสีอินฟราเรดใกล้ (near-infrared) ประมวลผลรวมกันระหว่างช่วงคลื่น 1.4 และ 3.0 ไมครอน แสดงในภาพเป็นสีฟ้าและสีส้มตามลำดับ ดังนั้น สีฟ้าที่แสดงในภาพนี้เป็นเพียงสีของตัวแทนข้อมูลที่ได้จากช่วงคลื่น 1.4 ไมครอน ไม่ใช่สีที่แท้จริงที่จะมองเห็นได้ในช่วงคลื่นที่ตามนุษย์มองเห็น

 

as20230524 3 02

 

พื้นที่บนดาวยูเรนัสที่สว่างที่สุดในภาพนั้นเป็นบริเวณขั้วของดาว (polar cap) ซึ่งนักดาราศาสตร์พบว่า บริเวณนี้จะส่องสว่างขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่ขั้วของดาวหันเข้าหาดวงอาทิตย์พอดี และจะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อขั้วดาวหันออกจากดวงอาทิตย์ สำหรับจุดที่สว่างเด่น 2 จุดนั้นคือเมฆในชั้นบรรยากาศของยูเรนัสที่สว่างโดดเด่นในช่วงคลื่นอินฟราเรด นักดาราศาสตร์คาดว่า เมฆเหล่านี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดพายุบนดาวยูเรนัส ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก JWST ในครั้งนี้จะช่วยเติมเต็มความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกของชั้นบรรยากาศดาวยูเรนัสที่ปัจจุบันก็ยังคงเป็นปริศนาอยู่หลายส่วนได้ดียิ่งขึ้น 

 

as20230524 3 03

 

นอกจากนี้ ภาพจาก JWST ยังแสดงให้เห็นวงแหวนของดาวยูเรนัสจำนวน 11 ชั้น จากทั้งหมด 13 ชั้น ซึ่งดาวยูเรนัสมีวงแหวนบางมาก มองเห็นได้ยากในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น แต่จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนในช่วงคลื่นอินฟราเรด รวมถึงในภาพมุมกว้างยังแสดงให้เห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวยูเรนัสจำนวน 6 ดวง จากทั้งหมด 27 ดวง

ทั้งหมดนี้ เป็นการเก็บข้อมูลด้วยระยะเวลาเพียง 12 นาที และใช้ช่วงคลื่นในการประมวลผลเพียง 2 ช่วงคลื่นเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมนักวิจัยวางแผนที่จะใช้ JWST อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเก็บข้อมูลดาวยูเรนัสให้ได้ความละเอียดมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง :

https://www.esa.int/Science_Exploration/Space_Science/Webb/Webb_scores_another_ringed_world_with_new_image_of_Uranus

 

เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

 

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 1061