NASA ได้ทำวิดีโอจำลองหลุมดำยักษ์กว่า 10 แห่ง เปรียบเทียบขนาดกับระบบสุริยะของเรา หลุมดำที่ได้ชื่อว่าเป็น Supermassive นั้นมันใหญ่แค่ไหนกันแน่ รับชมได้ในวิดีโอนี้เลย
NASA ได้จัดทำวิดีโอแอนิเมชันที่เปรียบเทียบให้เห็นขนาดของหลุมดำยักษ์ หรือ Supermassive Black Hole ที่มีขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ขนาดใหญ่พอ ๆ กับดวงอาทิตย์ ไปจนถึงขนาดที่เป็น Super ของ Supermassive อีกทีหนึ่ง ที่ทำให้ระบบสุริยะของเราดูเล็กจิ๋วไปเลย โดยหลุมดำเหล่านี้มีมวลตั้งแต่หลักแสนเท่าของมวลดวงอาทิตย์ ไปจนถึงหลักหมื่นล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์เลยทีเดียว
“แสง” ใด ๆ ก็ตามที่เคลื่อนที่ผ่านเข้ามายังขอบเขต “Event Horizon” ของหลุมดำ แสงเหล่านั้นจะติดอยู่ภายในหลุมดำตลอดกาล และไม่มีวันออกมาภายนอกได้อีก จึงเรียกขอบเขตนี้ว่า “จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ” คุณสมบัตินี้เองที่ทำให้หลุมดำมีลักษณะที่เราจะมองเห็นได้เป็นเงาดำสนิทที่ใจกลาง ห้อมล้อมไปด้วยวงแหวนสว่าง โดยเงาสีดำสนิทที่ใจกลางนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าขอบเขต Event Horizon ที่แท้จริงของหลุมดำประมาณ 2 เท่า นักดาราศาสตร์จึงเรียกขอบเขตนี้ว่าเป็น “เงาของหลุมดำ” ซึ่งปรากฏอยู่ในภาพถ่ายหลุมดำยักษ์ที่เราได้เห็นในข่าวก่อนหน้านี้ทั้งหลุมดำ M87* และ Sag A*
วิดีโอนี้นำหลุมดำยักษ์ทั้ง 10 แห่ง ซึ่งทุกแห่งล้วนแล้วแต่อยู่ภายในใจกลางของกาแล็กซีทั้งสิ้น มีขนาดแตกต่างตามมวลของหลุมดำ นำมาเปรียบเทียบกับขนาดของระบบสุริยะเราให้เห็นภาพกันชัด ๆ ว่าหลุมดำแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่แค่ไหน โดยเริ่มตั้งแต่หลุมดำ 1601+3113 ซึ่งมีมวลประมาณ 100,000 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ เป็นหลุมดำศูนย์กลางของกาแล็กซีแคระ และไล่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ Sagittarius A* ที่มีมวลประมาณ 4.3 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ อยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา หลุมดำในกาแล็กซี Andromeda ที่มีมวล 140 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ รวมถึงหลุมดำ M87* ที่มีมวล 5,400 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ และไปจบที่หลุมดำ TON 618 ที่เป็นหลุมดำ ณ ใจกลางเควซาร์ (Quasar) ที่มีมวลกว่า 60,000 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์
อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=8GnSFAZD8YY
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.