ทุกวันนี้ ผิวดาวอังคารนั้นแห้งแล้งและปรากฏเป็นสีแดงของสนิมเหล็ก แต่เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2019 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ยาน Mars Express ค้นพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าใต้ผิวดาวอังคารเคยมีทะเลสาบหลายแห่งที่เชื่อมต่อกันโดยมีทะเลสาบ 5 แห่งที่มีแร่ธาตุที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต


as20190305 1 01

        ยาน Mars Express ทำการสำรวจหลุมอุกกาบาต 24 หลุมบริเวณซีกเหนือของดาวอังคาร ซึ่งทั้งหมดมีก้นหลุมที่ลึกมาก สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบคือ

- ร่องรอยที่แสดงถึงลักษณะการไหลของน้ำ และทะเลสาบ

- หุบและเนินที่ถูกน้ำไหลกร่อน 

- ลักษณะของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เกิดขึ้นขณะที่มีการเปลี่ยนระดับน้ำ

- โครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายขั้นบันไดที่เกิดจากแหล่งน้ำ

        ที่น่าสนใจคือ โครงสร้างทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อนซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับที่ดาวอังคารมีมหาสมุทร

as20190305 1 02

        นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามหาสมุทรบนดาวอังคารอาจเชื่อมต่อกับทะเลสาบซึ่งกระจายตัวอยู่ใต้ผิวทั่วดาวอังคาร

        ก่อนหน้าการค้นพบนี้ ยาน Mars Express เคยค้นพบน้ำในรูปของเหลวบริเวณขั้วใต้ของดาวอังคารมาแล้ว แต่การค้นพบล่าสุดนี้คือ ระบบน้ำใต้ดินซึ่งก่อนหน้านี้มันปรากฏอยู่ในทฤษฎีและแบบจำลองเท่านั้น

        การศึกษาเรื่องน้ำบนดาวอังคารเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ซับซ้อนและเก็บข้อมูลยากมาก แต่ความรู้ในเรื่องนี้จะเชื่อมโยงเข้าสู่การตอบคำถามสำคัญว่าในอดีต ดาวเคราะห์ดวงนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่

        อย่างที่กล่าวถึงข้างต้นว่ามีหลุมอุกกาบาต 5 หลุมที่มีองค์ประกอบเป็นสารประเภทคาร์บอเนต (หินปูน) และซิลิเกต ซึ่งทั้งสองเป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตหลายอย่างบนโลก การพบสารเหล่านี้จึงเป็นการเน้นย้ำว่าบนดาวอังคารมีสสารที่เหมาะสมกับการกำเนิดชีวิตอยู่ 

        การศึกษาเหล่านี้มีความสำคัญมากเพราะมันจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองหาตำแหน่งที่ควรค่าแก่การสำรวจด้านชีวดาราศาสตร์ในอนาคต เช่น ภารกิจ ExoMars ที่จะไปศึกษาหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารนั่นเอง

 

 

 

(เรียบเรียง โดย อาจวรงค์ จันทมาศ)

อ้างอิง

https://www.esa.int/Our_Activities/Space_Science/Mars_Express/First_evidence_of_planet-wide_groundwater_system_on_Mars

https://www.esa.int/Our_Activities/Space_Science/Mars_Express/Mars_Express_detects_liquid_water_hidden_under_planet_s_south_pole

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 3225