ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของนาซา ถ่ายภาพปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในเอกภพได้มากมายหนึ่งในภาพที่โดดเด่นที่สุดคือ ภาพ “แสงแรก” แสดงให้เห็นซากซูเปอร์โนวาของ แคสซิโอเปีย เอ (Cassiopeia A) มีชื่อเล่นว่า แคส เอ (Cas A) เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542
แคส เอ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 11,000 ปีแสง ซากส่องสว่างนี้ อาจเป็นวัตถุหนึ่งที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าในช่วงเวลาสั้นๆ เกิดจากการระเบิดของดาวมวลมาก เมื่อเชื้อเพลิงของดาวฤกษ์หมด ดาวจะยุบตัวลงและระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา
กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราได้สังเกตการณ์ แคส เอ ซ้ำๆ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมและค้นหาดาวนิวตรอนที่อยู่ตรงใจกลาง ทำให้ค้นพบการกระจายตัวของธาตุองค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต จนสามารถสร้างแบบจำลองสามมิติของซากซูเปอร์โนวาขึ้นมาได้
สำหรับคนที่อยากเห็นวิวัฒนาการของ แคส เอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึงปี พ.ศ. 2556 สามารถตามไปดูได้ที่ https://youtu.be/44lHuKCmTWc เมื่อเทียบกับมนุษย์ ระยะเวลานี้ เท่ากับเด็กคนหนึ่งเข้าเรียนอนุบาลจนจบมัธยม แม้การเปลี่ยนแปลงของ แคส เอ ไม่ชัดเจนเท่าการเปลี่ยนแปลงของเด็ก แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่ได้เห็นวัตถุในห้วงจักรวาลเปลี่ยนแปลงในช่วงชีวิตของมนุษย์
เรียบเรียง : พัชริดา ยั่งยืนเจริญสุข
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ - สดร.
อ้างอิง : https://www.nasa.gov/mission_pages/chandra/images/the-latest-look-at-first-light-from-chandra.html