ข้อมูลภาพถ่ายช่วงคลื่นอินฟราเรดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ เผยภาพกลุ่มแก๊สและเมฆฝุ่นที่ได้รับผลกระทบจากกระแสลมและการแผ่รังสีจากดาวฤกษ์มวลมากอายุน้อย เกิดเป็นพื้นที่ลักษณะคล้าย “ฟองอากาศ”
https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/pia23402-640x640.gif
ฟองอากาศเหล่านี้อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก บริเวณกลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 - 30 ปีแสง เนื่องจากมีระยะห่างจากโลกมาก ทำให้นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถระบุขนาดของแต่ละจุดได้ (ตามภาพประกอบ) แต่คาดว่าแต่ละจุดประกอบไปด้วยดาวฤกษ์ตั้งแต่หลายร้อยถึงหลายพันดวง บริเวณที่มืดทึบหนาแน่นไปด้วยฝุ่นและแก๊สเย็นอาจมีดาวฤกษ์เกิดใหม่ซุกซ่อนอยู่
วงกลมและวงรีสีเหลืองแสดงตำแหน่งของฟองอากาศมากกว่า 30 จุด ส่วนกรอบสีแดงแสดงแนวคลื่นกระแทกที่เกิดจากกระแสลมของดาวฤกษ์
สีสันในภาพบ่งบอกความยาวคลื่นที่แตกต่างกันของช่วงคลื่นอินฟราเรด สีน้ำเงินแสดงถึงดาวฤกษ์ สีเขียวแสดงถึงกลุ่มฝุ่นและเมฆโมเลกุลสารอินทรีย์ที่เรียกว่าไฮโดรคาร์บอน และสีแดงคือฝุ่นที่ถูกความร้อนจากดาวฤกษ์
https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/pia23402b.jpg
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์เหมาะสำหรับใช้ศึกษาเนบิวลาและกลุ่มแก๊ส เนื่องจากคลื่นอินฟราเรดสามารถทะลุผ่านชั้นฝุ่นในอวกาศได้ดี
การศึกษาฟองอากาศและคลื่นกระแทกของภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการทางช้างเผือก (The Milky Way Project)” ของกลุ่มโครงการเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จากเว็บไซต์ Zooniverse.org ที่มีอาสาสมัครจากทั่วโลก ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ที่เปิดให้สาธารณะเข้าถึง ปัจจุบันข้อมูลฟองอากาศในแคตตาล็อกของโครงการนี้ตรวจพบ ฟองอากาศ 2,600 จุด และแนวคลื่นกระแทก 599 จุด และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารรายเดือนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร
เรียบเรียง
กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง
https://www.nasa.gov/feature/jpl/spitzer-spots-a-starry-region-bursting-with-bubbles
https://en.wikipedia.org/wiki/Zooniverse
http://astro.phys.sc.chula.ac.th/IHY/Heliosphere/Heliosphere_theory.htm