3 ธันวาคม 2562 นาซาเผยแพร่ภาพถ่ายจากยาน “ลูนาร์ รีคอนเนสเซนส์” พบร่องรอยการพุ่งชนของยานวิกรมบนผิวดวงจันทร์ เศษชิ้นส่วนกระจัดกระจายออกไปหลายกิโลเมตร
ขณะที่ยานวิกรมกำลังลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหลือระยะห่างอีกเพียงไม่กี่เมตรจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศอินเดีย ทันใดนั้นยานกลับขาดการติดต่อ ไม่สามารถควบคุมหรือระบุตำแหน่งยานได้อีก องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย หรือ ISRO พยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อกู้คืนระบบยานแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
ยาน “ลูนาร์ รีคอนเนสเซนส์” หรือ “LRO” ยานโคจรรอบดวงจันทร์ของนาซา ถ่ายภาพบริเวณที่ยานวิกรมลงจอด แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปสามารถดาวน์โหลดภาพเพื่อช่วยกันค้นหาตำแหน่งของยานวิกรม
ในเวลาต่อมา ศันมุคา สุพรหมัณยัม (Shanmuga Subramanian) วิศวกรชาวอินเดีย ติดต่อไปยังทีมวิเคราะห์ภาพถ่าย LRO ของนาซา ระบุว่าตรวจพบตำแหน่งที่ยานปะทะกับผิวดวงจันทร์แล้ว ทีมวิเคราะห์ภาพของนาซาจึงนำเบาะแสนี้ไปใช้ค้นหาตำแหน่งที่ยานพุ่งชนอย่างละเอียด แต่พบว่าภาพถ่ายที่มีขณะนั้นยังไม่เพียงพอยืนยันได้ว่า ร่องรอยดังกล่าวเกิดจากการพุ่งชนของยาน
ล่าสุดยาน LRO สามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงมากขึ้น สามารถสังเกตเห็นร่องรอยการปะทะของยาน เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายก่อนที่ยานจะพุ่งชน พบตำแหน่งหลักที่เกิดการปะทะ และตำแหน่งที่เศษชิ้นส่วนของยานกระจัดกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้างหลายกิโลเมตร โดยตำแหน่งที่ ศันมุคาค้นพบครั้งแรก (ตัวอักษร S ในภาพ) อยู่ห่างออกไปจากจุดปะทะหลักประมาณ 750 เมตร
ปัจจุบัน ถึงแม้ยานวิกรมไม่ประสบความเร็จในการลงจอด แต่ก็ยังคงเหลือยานจันทรยาน 2 ที่ยังปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดวงจันทร์ต่อไป
อ้างอิง : https://www.nasa.gov/image-feature/goddard/2019/vikram-lander-found
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.