รองศาสตราจารย์ โยชิฮิโระ ฟุรุคาวะ นำทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทโฮกุ ในประเทศญี่ปุ่น ศึกษาอุกกาบาต “NWA 801” และอุกกาบาต “เมอร์ชิสัน (Murchison)” พบโมเลกุลของน้ำตาล “ไรโบส (Ribose)” ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “RNA” ช่วยสนับสนุนสมมติฐานว่า โมเลกุลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้บนดาวเคราะห์น้อย ตีพิมพ์ลงในวารสาร “National Academy of Sciences” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
ทีมนักวิจัยใช้อุปกรณ์แก๊สโครมาโทรกราฟี-แมสสเปคสเปคโทรมิเตอร์ วิเคราะห์อุกกาบาตทั้ง 2 ชนิด พบโมเลกุลของน้ำตาลไรโบสและน้ำตาลที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ไซโรส และอาราบิโนส ในอุกกาบาต NWA 801 ในช่วง 2.3 - 11 ส่วนต่อพันล้าน และในอุกกาบาตเมอร์ชิสัน ในช่วง 6.7 - 180 ส่วนต่อพันล้าน
น้ำตาลไรโบสเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “RNA (Ribonucleic)” มีหน้าที่หลักในการถ่ายทอดข้อความทางพันธุกรรมจาก DNA (Deoxyribonucleic acid) ไปเป็นโปรตีนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก่อนหน้านี้มีการค้นพบเพียงกรดอะมิโน (ส่วนประกอบของโปรตีน) และนิวคลีโอเบส (ส่วนประกอบของ DNA และ RNA) ในอุกกาบาต แต่ครั้งนี้นักวิจัยพบน้ำตาลที่อาจช่วยสร้าง RNA ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต และเนื่องจากในการศึกษาครั้งนี้ไม่พบน้ำตาล “ดีออกซีไรโบส (Deoxyribose)” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ DNA จึงเป็นการสนับสนุนสมมุติฐานว่า RNA เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงพัฒนาไปเป็น DNA
ภาพตัวอย่างโครงสร้างโมเลกุลของน้ำตาลไรโบส (Ribose) และอุกกาบาตเมอร์ชิสัน (Murchison meteorite)
ผลจากการวิเคราะห์น้ำตาลไรโบสในอุกกาบาต พบว่าโครงสร้างของน้ำตาลมีคาร์บอน-13 (คาร์บอนที่มีจำนวนนิวตรอน 13 ตัว) เป็นองค์ประกอบหลัก แตกต่างจากน้ำตาลไรโบสที่พบบนโลกที่มีคาร์บอน-12 (คาร์บอนที่มีนิวตรอน 12 ตัว) เป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้ยืนยันได้ว่าผลการวิเคราะห์ไม่ได้ถูกปนเปื้อนจากสสารบนพื้นโลก
ภาพในจินตนาการของโลกในยุคโบราณ คาดว่าอุกกาบาตอาจนำน้ำและโมเลกุลอื่นๆที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตมายังโลก
นักวิจัยวางแผนวิเคราะห์ตัวอย่างของอุกกาบาตชิ้นอื่น เพื่อพิสูจน์สมมติฐานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และหากได้รับหินตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยริวงู และดาวเคราะห์น้อยเบนนู จากยานฮายาบูสะ 2 ของญี่ปุ่น และยานโอไซริส-เร็กซ์ของสหรัฐฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นหินที่เก่าแก่และบริสุทธิ์ที่สุดในระบบสุริยะ จะช่วยให้เข้าใจถึงที่มาของโมเลกุลที่ซับซ้อน และอาจไขปริศนากระบวนการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกได้
เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง : https://www.nasa.gov/press-release/goddard/2019/sugars-in-meteorites