หลังจากที่การปล่อยยานลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในโครงการจันทรยาน 2 ของอินเดียล้มเหลวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา อินเดียยังคงพยายามส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ลำต่อไปให้สำเร็จ

Chandrayaan2

รูปที่ 1 ภาพจินตนาการแสดงสถานการณ์หากยานวิกรมลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ได้สำเร็จ [Credit ภาพ: ISRO]

องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) ได้ออกแบบภารกิจจันทรยาน-3 (Chandrayaan-3) ที่เพียงยานลงจอดและรถสำรวจ เนื่องจากทางอินเดียมียานจันทรยาน 2 เป็นยานโคจรรอบดวงจันทร์ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่แล้ว

ยานจันทรยาน 2 ได้ปล่อยยานลงจอด  “วิกรม” (Vikram) พร้อมรถสำรวจ “ปรัชญาน” (Pragyan) ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2562 (ตามเวลาประเทศไทย) ก่อนที่สัญญาณจะเงียบหายไปขณะที่ยานใกล้ถึงพื้นผิว และมีการยืนยันพบซากยานในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562

หนังสือพิมพ์ The Times of India อ้างว่า ISRO มีแผนที่จะสร้างยานลงจอดบนดวงจันทร์ลำต่อไป จะมีขาสำหรับลงจอดที่แข็งแรงขึ้นเพื่อให้ยานสามารถทนต่อการสัมผัสพื้นผิว 

ล่าสุดทาง ISRO ได้เริ่มประชุมเพื่อพิจารณาร่างโครงการจันทรยาน-3 ในหลายประเด็น เช่น การเลือกพื้นที่ลงจอดบนดวงจันทร์ เทคนิคการนำทาง และส่วนประกอบของตัวยาน ส่วนข้อมูลอื่นเกี่ยวกับโครงการจันทรยาน 3 อย่างวันเวลาที่จะส่งยานขึ้นสู่อวกาศ หรือลักษณะของสัมภาระในโครงการที่จะใช้จรวดบรรทุกส่งขึ้นไปนั้นยังไม่มีการเปิดเผย 

ในปัจจุบันนี้อินเดียได้ส่งยานสำรวจระบบสุริยะไปแล้ว 3 ลำ ได้แก่ ยานสำรวจดวงจันทร์ (จันทรยาน-1 กับจันทรยาน-2) และยานสำรวจดาวอังคาร (มังคลยาน)  นอกจากนี้อินเดียยังมอง “ดาวศุกร์” เป็นเป้าหมายในการส่งยานไปสำรวจถัดไป

Venus Akatsuki

รูปที่ 2 ภาพถ่ายดาวศุกร์จากยานอาคัตสึกิ ยานสำรวจของญี่ปุ่นที่กำลังโคจรรอบดาวศุกร์ในปัจจุบัน [Credit ภาพ: JAXA]

คณะนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรของ ISRO ได้ส่งร่างแผนการยานโคจรรอบดาวศุกร์ “ศุกรยาน-1” (Shukrayaan-1) ต่อรัฐบาลอินเดีย และคาดหวังว่าหากทางรัฐบาลอนุมัติโครงการนี้ จะส่งยานขึ้นสู่อวกาศในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ด้วยจรวดส่งดาวเทียมค้างฟ้าของ ISRO ซึ่งเป็นจรวดแบบเดียวกับที่อินเดียเคยใช้ส่งยานจันทรยาน-2 ขึ้นสู่อวกาศ

ISRO จะออกแบบยานโคจรรอบดาวศุกร์ให้สามารถรวมข้อมูลดาวศุกร์ได้นานประมาณ 1 ปี และจะบรรทุกอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ 16 ชิ้นเพื่อใช้สำรวจดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลกดวงนี้ โดยวัตถุประสงค์ของยานศุกรยาน-1 ได้แก่ 

- ทำแผนที่และศึกษาบริเวณใต้พื้นผิวระดับตื้นของดาวศุกร์ เพื่อใช้ในการตรวจหาบริเวณที่มีแมกมาผุดหรือเอ่อขึ้นมา (Volcanic hotspots) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วดาวศุกร์

- ศึกษาบรรยากาศของดาวศุกร์ เช่น ติดตามเมฆ ตรวจหาปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ศึกษาแสงเรืองที่ปรากฏในชั้นบรรยากาศ

- ศึกษาอันตรกิริยาระหว่างดาวศุกร์กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ เช่น การตรวจวัดกระแสอนุภาคมีประจุจากดวงอาทิตย์ที่ปะทะหรือเข้าใกล้ดาวศุกร์

นอกจากดวงจันทร์และดาวศุกร์แล้ว ทาง ISRO ยังได้ถกกันว่าจะส่งยานสำรวจดาวอังคารอีกลำหรือไม่ แต่จากการประเมินในเบื้องต้นแล้ว คาดว่าการส่งยานไปดาวอังคารลำที่ 2 ของอินเดียอาจมีหลังจากการส่งยานสำรวจดาวศุกร์

 

แหล่งที่มาของข่าว

https://www.space.com/india-chandrayaan-3-moon-landing-2020.html 

https://www.space.com/india-considering-venus-orbiter-mission.html 


แปลและเรียบเรียงโดย

พิสิฏฐ นิธิยานันท์
เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์
ศูนย์บริการวิชาการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

| Category: ข่าวดาราศาสตร์ | Hits: 4068